รอดหรือร่วง : ไขกุญแจสำคัญ 3 ทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีก กับการหนีตกชั้น

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เปิดฤดูกาล 2020/21 แล้ว ซึ่ง ลีดส์ ยูไนเต็ด, เวสต์บรอมวิช และ ฟูแลม 3 ทีมน้องใหม่ต่างก็แพ้หมด แต่เมื่อถึงนัดที่ 38 ทีมใดจะรอดหรือจะร่วง ไปดูปัจจัยที่จะช่วยให้หนีตกชั้นกัน

  • 55% ของทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีก ไม่ตกชั้นในซีซั่นแรก
  • เปิดตำรา “บิ๊กแซม” ต้องทำอะไรบ้างจึงจะรอดตกชั้น
  • “การเสริมทัพ” ไม่ใช่คำตอบของ “การอยู่รอด” เสมอไป

55% ของทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีก ไม่ตกชั้นในซีซั่นแรก

นับตั้งแต่ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษ ถูกปรับโฉมให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก “ดิวิชัน 1” มาเป็น “พรีเมียร์ลีก” ในฤดูกาล 1992/93 ตลอด 28 ฤดูกาลที่ผ่านมา มีทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นมาแล้วสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้จำนวน 46 ทีม จากทีมน้องใหม่ทั้งหมด 83 ทีม หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์

ถ้านับเฉพาะ 25 ซีซั่นที่ พรีเมียร์ลีก ปรับลดจาก 22 ทีม เหลือ 20 ทีม ตั้งแต่ฤดูกาล 1995/96 ซึ่งแต่ละทีมมีโปรแกรมให้ลงสนาม 38 นัดเหมือนในปัจจุบัน ก็จะมี 41 ทีมที่เลื่อนชั้นขึ้นมาแล้วไม่ตกชั้นกลับลงไปทันทีภายในซีซั่นเดียว จากทีมน้องใหม่ทั้งหมด 74 ทีม หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

แต่ ลีดส์ ยูไนเต็ดเวสต์บรอมวิช, และ ฟูแลม ทีมใดจะได้เป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของทีมน้องใหม่ที่เอาตัวรอดจากการร่วงหล่นกลับสู่เวที เดอะ แชมเปียนชิพ เราย้อนกลับไปดูกันหน่อยว่า มีทีมไหนบ้างที่ทำผลงานได้ดีที่สุดหลังจากที่พวกเขาตีตั๋วขึ้นมาโลดแล่นบนลีกสูงสุดของเมืองผู้ดี

อิปสวิช คือ ทีมน้องใหม่ที่ระเบิดฟอร์มได้ยอดเยี่ยมที่สุดในพรีเมียร์ลีก ยุคที่แข่งขัน 38 นัดต่อฤดูกาล แม้จะได้เลื่อนชั้นเป็นทีมสุดท้ายจากสิทธิ์เพลย์ออฟในซีซั่น 2000/01 แต่กลับมีผลงานดีกว่าอีก 2 ทีมที่ได้โควตาเลื่อนชั้นอัตโนมัติอย่าง ชาร์ลตัน ที่ได้อันดับ 9 และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ตกชั้นจากการจบในอันดับ 18

ขุนพล “ม้าขาว” จบฤดูกาลในอันดับ 5 จากผลงานชนะ 20 นัด เสมอ 6 เกม ยิง 57 ประตู เสียเพียง 42 ลูก คว้าตั๋วไปเล่นในถ้วยสโมสรยุโรปอย่าง ยูฟ่า คัพ (ยูโรปาลีก ในปัจจุบัน) โดยที่ขับเคี่ยวแย่งตั๋วยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก กับ ลิเวอร์พูล และ ลีดส์ ยูไนเต็ด จนถึงนัดสุดท้ายด้วย ก่อนเป็น “หงส์แดง” ที่สมหวัง ขณะที่ จอร์จ เบอร์ลีย์ กุนซือ “ม้าขาว” ยังคว้ารางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปีอีกด้วย

ส่วนทีมน้องใหม่ที่มีผลงานแย่ที่สุด คือ ดาร์บี เคาน์ตี ภายใต้การคุมทีมของ พอล จีเวลล์ ซึ่งพวกเขาต้องกระเด็นจากพรีเมียร์ลีกอย่างรวดเร็ว หลังทำสถิติเก็บแต้มได้น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์เพียง 11 คะแนน จากผลงานชนะแค่ 1 เกมตลอดทั้งฤดูกาล 2007/08 และเสมออีก 8 นัด ยิงได้เพียง 20 ประตู แต่ถูกเจาะตาข่ายไปถึง 89 ลูก ทำให้ “แกะเขาเหล็ก” ตกชั้นไปพร้อมกับ เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาด้วยกัน มีเพียง ซันเดอร์แลนด์ ที่เป็นน้องใหม่ทีมเดียวที่ประสบความสำเร็จในภารกิจหนีตาย

หากไล่ดูตารางคะแนนในนัดสุดท้ายของพรีเมียร์ลีกทั้ง 28 ฤดูกาล พบว่ามีเพียง 3 ซีซั่นเท่านั้นที่น้องใหม่ทั้ง 3 ทีมสามารถรอดพ้นจากการตกชั้นได้ทั้งหมด เริ่มจากฤดูกาล 2001/02 (ฟูแลม, แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส, โบลตัน วันเดอเรอร์ส) ต่อด้วยฤดูกาล 2011/12 (ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส, นอริช ซิตี้, สวอนซี) และครั้งล่าสุดในฤดูกาล 2017/18 (นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, ไบรจ์ตัน, ฮัดเดอร์สฟิลด์)

อย่างไรก็ตาม มีเพียงซีซั่นเดียวเช่นกันที่น้องใหม่ต้องตกชั้นกลับสู่ลีกรองภายในปีเดียวพร้อมกันทั้ง 3 ทีม คือ ฤดูกาล 1997/98 โดย 3 ทีมน้องใหม่ที่วาสนาไม่ดีพออยู่ต่อในพรีเมียร์ลีกเป็น โบลตัน วันเดอเรอร์ส, บาร์นสลีย์ และ คริสตัล พาเลซ ที่เก็บได้ไม่เกิน 40 คะแนน ซึ่งว่ากันว่าเป็นค่ามาตรฐานสำหรับทีมที่จะรอดตกชั้นในแต่ละฤดูกาลควรทำให้ได้เพื่อการันตีสถานะในลีกสูงสุด

แต่บรรดาทีมน้องใหม่จะต้องทำอะไรบ้างเพื่อสะสมแต้มให้ได้ถึง 40 คะแนน หรือใกล้เคียงในการต่อลมหายใจบนพรีเมียร์ลีกให้ได้ บรรทัดต่อจากนี้อาจเป็นคำตอบสำหรับพวกเขา

เปิดตำรา “บิ๊กแซม” ต้องทำอะไรบ้างจึงจะรอดตกชั้น

แซม อัลลาร์ไดซ์” กุนซือที่ได้รับการยอมรับในฝีมือของวงการลูกหนังอังกฤษ เผยถึงยุทธวิธีสำคัญที่อยู่เบื้องหลังในการพา โบลตัน วันเดอเรอร์ส เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ด้วยตั๋วเพลย์ออฟเมื่อฤดูกาล 2001/02 ก่อนพาทีมรอดตกชั้นได้สำเร็จ พร้อมทั้งปักหลักอย่างมั่นคงในลีกสูงสุดเป็นเวลา 6 ฤดูกาล โดยพาทีมจบอันดับเลขตัวเดียวถึง 4 ซีซั่น และได้ไปเล่นยูฟ่า คัพ 2 ฤดูกาล ก่อนอำลาตำแหน่งในเดือนเมษายน ปี 2007

แซม อัลลาร์ไดซ์ (ขวา) กุนซือผู้พา โบลตัน ขึ้นมาผงาดในพรีเมียร์ลีกนานถึง 6 ฤดูกาล ระหว่างปี 2001-2007
แซม อัลลาร์ไดซ์ (ขวา) กุนซือผู้พา โบลตัน ขึ้นมาผงาดในพรีเมียร์ลีกนานถึง 6 ฤดูกาล ระหว่างปี 2001-2007

“บิ๊กแซม” กางตำราที่เคยเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของเขาที่เคยทำไว้กับทีม “เดอะ ทร็อตเตอร์ส” ผ่านทางรายการ Monday Night Football ของ สกาย สปอร์ตส เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยกุนซือวัย 65 ปี เผยว่า มีกุญแจสำคัญอยู่ 7 ข้อที่ทีมน้องใหม่ต้องทำให้ได้ เพื่อความอยู่รอดของพวกเขาในลีกที่เต็มไปด้วยความโหดหินอย่างพรีเมียร์ลีก

7 กุญแจสำคัญทีมน้องใหม่หนีตกชั้น ฉบับ “บิ๊กแซม”
1. พยายามอย่าเสียประตู
2. จ่ายบอลแรกต้องให้บอลขึ้นไปข้างหน้า
3. เน้นลูกเซตพีซทุกจังหวะ (ทั้งเกมรุกและเกมรับ)
4. การเล่นในพื้นที่สุดท้ายต้องมีประสิทธิภาพ
5. อย่าเสียบอลในแดนตัวเอง
6. เอาชนะในจังหวะคับขันและออกบอลให้เร็วที่สุด
7. ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของคู่แข่ง

ทั้ง 7 ข้อที่ “บิ๊กแซม” ว่ามา จะเน้นไปที่การเล่น “เกมรับ” ให้เหนียวแน่นเป็นลำดับแรก ก่อนหาจังหวะเปิดเกมรุกโดยใช้การเล่นแบบ “ไดเรกต์ ฟุตบอล” เพื่อพาบอลขึ้นไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด และเมื่อเสียบอลก็ต้องเน้นในจังหวะแย่งเอาบอลกลับมาครองให้ได้

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ วูล์ฟแฮมป์ตัน ที่รอดตกชั้นได้พร้อมกับจบในอันดับ 7 เมื่อฤดูกาล 2018/19 เมื่อไล่ดูสถิติใน 7 ข้อตามตำราของ “บิ๊กแซม” พบว่า ภาพรวมของทัพ “หมาป่า” ทำได้ดีกว่า คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ และ ฟูแลม อีก 2 ทีมน้องใหม่ที่ไม่อาจอยู่รอดต่อไปได้ โดยลูกทีมของ นูโน เอสปิริโต ซานโต สามารถแย่งบอลกลับมาครองได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของลีก, ไม่เสียประตูบ่อยที่สุดเป็นอันดับ 11 ของลีก และสร้างโอกาสลุ้นประตูแบบจะแจ้งได้เป็นอันดับ 8 ของลีก

ผิดกับ ฟูแลม ที่เก็บคลีนชีต (ไม่เสียประตู) ได้เพียงอันดับ 19 และยังทำประตูจากลูกเซตพีซได้น้อยที่สุด รวมถึงจ่ายบอลเสียในแดนตัวเองมากที่สุด อีกทั้งยังทำประตูจากโอกาสจะแจ้งแค่ในอันดับ 17 ส่วน คาร์ดิฟฟ์ แม้จะจ่ายบอลแรกขึ้นไปข้างหน้าได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของลีก แต่ก็สร้างโอกาสลุ้นประตูแบบชัดเจนได้แค่อันดับ 19 และยังแย่งบอลกลับมาครองได้แค่อันดับ 16 จึงทำให้ ไบรจ์ตัน กับ เซาแธมป์ตัน มีคะแนนมากกว่า และได้อยู่รอดแทน

“การเสริมทัพ” ไม่ใช่คำตอบของ “การอยู่รอด” เสมอไป

เมื่อซีซั่นเก่าผ่านไป และฤดูกาลใหม่กำลังจะมา สิ่งแรกที่ทุกคนจะต้องถามถึง คือ “การเสริมทัพ” เพื่อรับมือกับศึกหนักที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่งทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นบางทีมอาจใช้วิธีนี้แก้ปัญหา และช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยได้

แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับ ฟูแลม ในฤดูกาล 2018/19 ซึ่งพวกเขาทุ่มงบเสริมทัพแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์เกิน 100 ล้านปอนด์ (4,100 ล้านบาท) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีก เพื่อกวาดต้อนผู้เล่นเข้ามาถึง 10 คน นำโดย อเล็กซานดาร์ มิโตรวิช, อันเดร เชือร์เล, ฌอง มิชาแอล เซรี, อัลฟี มอว์สัน, อองเดร-ฟรองค์ แซมโบ อองกีสซา และยังมีนักเตะที่เซ็นฟรีกับยืมตัวแบบไม่เสียค่ายืมมาอีก 8 คน แต่สุดท้ายก็หนีจากการตกชั้นไม่พ้น ต้องหล่นลงไปตั้งหลักใหม่ในศึกแชมเปียนชิพ

ในบรรดาทีมน้องใหม่ยุคพรีเมียร์ลีกทั้งหมด 83 ทีม มี 21 ทีม ที่ใช้งบ 20 ล้านปอนด์ (820 ล้านบาท) ขึ้นไป ในการเสริมทัพช่วงฤดูร้อน แต่มีอยู่ 5 ทีมที่การลงทุนเพื่อหวังซื้อความสำเร็จ กลับไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ซึ่งตัวอย่างข้างล่างนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นว่าการใช้เงินไม่อาจแก้ปัญหาได้เสมอไป แต่การลงทุนที่ชาญฉลาดและเสริมทัพได้ตรงจุดเท่านั้นที่จะเป็นหนทางสู่การอยู่รอด เช่นเดียวกับการทำธุรกิจโดยทั่วไป

จริงอยู่ที่ว่าฟุตบอลตัดสินผลแพ้-ชนะด้วยการทำประตู ทีมไหนยิงได้มากกว่าก็เป็นผู้ชนะ แต่สถิติของพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ฤดูกาล 1995/96 ระบุว่าทีมน้องใหม่มีค่าเฉลี่ยการยิงประตูในซีซั่นแรกที่เลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่ที่ 30-49 ประตู แต่ไม่เจาะจงว่าเป็นทีมที่อยู่รอดหรือตกชั้น

ส่วนทีมที่หนีตายสำเร็จมีสถิติการเสียประตูไม่เกิน 60 ประตู (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50-59 ประตู) นั่นบ่งบอกให้เห็นว่า ทีมที่ไม่ตกชั้นส่วนใหญ่ คือ ทีมที่สามารถเล่น “เกมรับ” ได้ดี

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการหนีตกชั้น คือ “ผลงานในเกมเหย้า” ซึ่ง เบิร์นลีย์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในฤดูกาล 2016/17 ที่พวกเขายังอยู่ในพรีเมียร์ลีกต่อไปได้ด้วยฟอร์มอันแข็งแกร่งในบ้านตัวเอง จากการเก็บไปถึง 33 คะแนน ในขณะที่เกมเยือนได้มาเพียง 7 คะแนน แตกต่างจากฤดูกาล 2009/10 ที่ เบิร์นลีย์ ตกชั้นจากการได้เพียง 30 แต้ม แบ่งเป็น 26 แต้มในบ้าน และ 4 แต้มนอกบ้าน

สถิติที่ สกาย สปอร์ตส รวบรวมมาระบุว่า ทีมน้องใหม่จะทำแต้มเฉลี่ยในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรกที่ 25 คะแนนสำหรับเกมในบ้าน และ 14 คะแนนสำหรับเกมนอกบ้าน ซึ่งก็พอจะตีความได้ว่ายิ่งได้คะแนนจากเกมเหย้ามากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น

ขณะที่ “กุนซือ” หรือที่เรียกแบบเป็นทางการว่า “ผู้จัดการทีม” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งก็มีน้องใหม่อยู่ 19 ทีม จากทั้งหมด 74 ทีม นับตั้งแต่ฤดูกาล 1995/96 ที่ปลดเฮดโค้ชระหว่างฤดูกาล หลังจากทำผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายของผู้บริหาร 

อย่างไรก็ตาม สถิติระบุว่า มีแค่ 6 ทีมเท่านั้น จาก 19 ทีมที่ประสบความสำเร็จกับการใช้สูตร “บอลเปลี่ยนโค้ช” แล้วสามารถรอดพ้นจากการตกชั้นได้ โดย 19 ทีมที่ว่านี้เก็บแต้มได้เฉลี่ยเกมละ 0.18 คะแนนเท่านั้น หลังจากที่กุนซือคนใหม่เข้ามารับเผือกร้อน

แต่ “บอลเปลี่ยนโค้ช” ก็เป็นจุดพลิกผันของการอยู่รอดในพรีเมียร์ลีกสำหรับบางทีม เช่น คริสตัล พาเลซ ที่ตะเพิด เอียน ฮอลโลเวย์ ตกเก้าอี้ในเดือนตุลาคม ปี 2013 ก่อนได้ โทนี พูลิส เข้ามาเป็นอัศวินขี่ม้าขาวในอีก 1 เดือนต่อมา ซึ่ง พูลิส ก็พาทีมจบซีซั่นที่อันดับ 11

ทว่าบางทีมก็ใช้สูตรนี้ไม่ได้ผล เช่น เบิร์นลีย์ ที่แยกทางกับ โอเวน คอยล์ ในช่วงต้นเดือนมกราคม ปี 2010 สุดท้าย ไบรอัน ลอว์ส ที่เข้ามารับไม้ต่อก็พาทีมจบอันดับ 18 ตามหลัง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมสุดท้ายที่อยู่รอดถึง 5 คะแนน

และหากพูดถึง “แผนการเล่น” เช่น ระบบ 4-4-2, 4-3-3, 4-2-3-1 ที่ทีมส่วนใหญ่นิยมใช้กัน บางทีมก็อาจมีการปรับหมากแก้เกม เพื่อหาทางรับมือคู่ต่อสู้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละนัด อย่างไรก็ตาม ทีมที่อยู่รอดส่วนใหญ่มักจะเป็นทีมที่ไม่ค่อยปรับแผนการเล่นมากนัก

โดยเฉลี่ยแล้วทีมที่ไม่ตกชั้นในรอบ 5 ฤดูกาลหลังสุดจะมีการเปลี่ยนแผนการเล่นไม่เกิน 6 ระบบเท่านั้น ในขณะที่ทีมตกชั้นจะมีการเปลี่ยนแผนมากถึง 9 ระบบ แต่สาเหตุที่พวกเขาต้องเปลี่ยนก็เพราะว่าในระหว่างทางที่กำลังหนีตาย ผลการแข่งขันอาจไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จึงต้องลองผิดลองถูก เผื่อจะค้นพบทางสว่างสำหรับการอยู่รอดในลีกสูงสุด

ส่วนการปรับเปลี่ยน “ผู้เล่น 11 คนแรก” ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางรอด เพราะสถิติระบุว่าทีมที่ตกชั้นส่วนมากจะมีการเปลี่ยน “แผนการเล่น” มากกว่า “ตัวผู้เล่น” ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการมีขนาดของทีมค่อนข้างเล็ก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มีตัวผู้เล่นให้เลือกใช้งานจำกัด จึงต้องอาศัยการเปลี่ยนแผนการเล่นเข้ามาช่วย

คริส ไวล์เดอร์ (เสื้อดำฝั่งซ้าย) หมุนผู้เล่น 31 คนในระบบ 3-5-2 พา เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทำเซอร์ไพรส์ระหว่างฤดูกาล ก่อนจบอันดับ 9
คริส ไวล์เดอร์ (เสื้อดำฝั่งซ้าย) หมุนผู้เล่น 31 คนในระบบ 3-5-2 พา เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทำเซอร์ไพรส์ระหว่างฤดูกาล ก่อนจบอันดับ 9

ตัวอย่างที่พิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว คือ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมน้องใหม่ซีซั่นที่แล้ว ซึ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาในฐานะรองแชมป์ของศึกแชมเปียนชิพ และกุนซือ คริส ไวล์เดอร์ ก็มีแนวทางชัดเจน คือ การยึดมั่นระบบ 3-5-2 แทบจะตลอด 38 นัด

ผู้เล่นในทีม “ดาบคู่” ที่ ไวล์เดอร์ ใช้งานทั้งฤดูกาลมีถึง 31 คน แต่มีอยู่ 4 คนที่ลงเล่นครบทุกนัด คือ คริส บาแชมจอร์จ บัลด็อคเอ็นดา สตีเวนส์ และ โอลิเวอร์ นอร์วูด ส่วนนักเตะที่ลงเล่น 30 นัดขึ้นไปก็มีถึง 11 คน 

ผลลัพธ์ที่ออกมา เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการขึ้นมาอยู่หัวตารางในช่วงครึ่งฤดูกาลแรก และยังมีลุ้นโควตายูโรปาลีกจนถึงช่วงท้ายฤดูกาล ก่อนสะดุดในช่วงที่รีสตาร์ตกลับมาแข่งขันกันต่อหลังสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังจบที่อันดับ 9 และยังเสียไปเพียง 39  ประตูู น้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของพรีเมียร์ลีก ต่อจาก ลิเวอร์พูล (33 ประตู), แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (35 ประตู) และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (36 ประตู)

ขณะที่เรื่องของ “ประสบการณ์” หลายคนอาจคิดว่าจำเป็นกับภารกิจหนีตกชั้น แต่ข้อมูลที่ สกาย สปอร์ตส ไปค้นคว้ามากลับย้อนแย้งกับความคิดดังกล่าว โดยในช่วง 5 ฤดูกาลหลังสุด ทีมน้องใหม่ที่ตกชั้นภายในซีซั่นเดียว มีค่าเฉลี่ยของอายุนักเตะ 11 คนแรกอยู่ที่ 27.8 ปี แต่ทีมที่อยู่รอดกลับมีค่าเฉลี่ยของอายุผู้เล่นตัวจริงอยู่ที่ 27.6 ปี 

ย้อนไปในฤดูกาล 2017/18 ทั้ง ไบรจ์ตัน และ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ออกสตาร์ตด้วยการมีผู้เล่นที่ผ่านประสบการณ์ในพรีเมียร์ลีกรวมกันทั้งทีมประมาณ 500 นัด ซึ่งทั้งคู่ก็ไม่ตกชั้น แต่ วูล์ฟแฮมป์ตัน เองก็เอาตัวรอดได้สบายๆ เช่นกันในฤดูกาล 2018/19 และยังจบสูงถึงอันดับ 7 ได้โควตาไปเล่นยูโรปาลีก รอบคัดเลือก รอบ 2 อีกต่างหาก แม้ว่าผู้เล่นในทีมจะเคยสัมผัสลีกสูงสุดของเมืองผู้ดีรวมกันแค่ 218 นัด

ในส่วนของประสบการณ์ของตัวกุนซือนั้น ก็ใช่ว่าคนที่เจนจัดกับการคุมทีมในพรีเมียร์ลีกจะช่วยให้อยู่รอดได้เสมอไป ซึ่งทั้ง เดวิด วากเนอร์ ของ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ในฤดูกาล 2017/18 และ นูโน เอสปิริโต ซานโต ของ วูล์ฟแฮมป์ตัน ในฤดูกาล 2018/19 ก็ยังพาทีมไม่ตกชั้นได้ในปีแรกที่สัมผัสกับเวทีพรีเมียร์ลีก 

ผิดกับ นีล วอร์น็อค ที่ต่อลมหายใจของ คาร์ดิฟฟ์ ไว้ไม่ได้เมื่อ 2 ซีซั่นก่อน ทั้งที่มีประสบการณ์โชกโชนกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด, คริสตัล พาเลซ และ ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส รวมถึง เคลาดิโอ รานิเอรี อดีตกุนซือเชลซี และ เลสเตอร์ ซิตี้ ชุดสร้างปาฏิหาริย์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015/16 ก็ไม่อาจช่วยให้ ฟูแลม อยู่ต่อในลีกสูงสุดได้ในฤดูกาลเดียวกันกับ วอร์น็อค

เคลาดิโอ รานิเอรี พา เลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่กลายเป็นเทวดาตกสวรรค์กับ ฟูแลม
เคลาดิโอ รานิเอรี พา เลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่กลายเป็นเทวดาตกสวรรค์กับ ฟูแลม

จากข้อมูลและสถิติทั้งหมดจึงพอสรุปได้ว่า กุญแจสำคัญของ 3 ทีมน้องใหม่พรีเมียร์ลีก กับภารกิจลุ้นหนีตกชั้น มีอยู่ 7 ข้อดังนี้

1. ยึดตำรา 7 ข้อของ “บิ๊กแซม” 

2. เสริมทัพอย่างชาญฉลาด และแก้ปัญหาให้ตรงจุด

3. ให้ความสำคัญกับเกมรับก่อน

4. เน้นการทำผลงานให้ดีในเกมเหย้า

5. พยายามเก็บแต้มในช่วงต้น, คริสต์มาส และโค้งสุดท้ายของฤดูกาล

6. มีขนาดทีมที่ใหญ่พอสำหรับการหมุนเวียนผู้เล่น

7. ไม่เปลี่ยนระบบการเล่นบ่อยจนเกินไป

การเสริมทัพ

ลีดส์ ยูไนเต็ด 

มาร์เซโล บิเอลซา ยอดกุนซือชาวอาร์เจนตินา ฉลองการเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกในรอบ 16 ปีของทีม “ยูงทอง” ด้วยการคว้านักเตะใหม่มา 9 ราย โดยใช้งบทั้งสิ้นเกือบ 63 ล้านปอนด์ (2,583 ล้านบาท)

รายที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ คือ โรดริโก โมเรโน ดาวยิงทีมชาติสเปน ที่ย้ายมาจาก บาเลนเซีย ด้วยค่าตัวสถิติของสโมสร 27 ล้านปอนด์ (1,107 ล้านบาท) และ โรบิน ค็อก ปราการหลังทีมชาติเยอรมนี ที่ย้ายมาจาก ไฟรบวร์ก ด้วยค่าตัวราว 12 ล้านปอนด์ (492 ล้านบาท)

แน่นอนว่าด้วยดีกรีของทั้งคู่ย่อมถูกคาดหวังว่าจะช่วย ลีดส์ ให้ยืนหยัดต่อไปได้ และเมื่อดูจากฟอร์มรวมถึงแนวทางการเล่นในนัดแรกที่บุกไปแพ้ ลิเวอร์พูล แชมป์เก่า 3-4 ชนิดที่เปิดเกมรุกสู้ได้อย่างไม่เป็นรอง เชื่อว่าลูกทีมของ บิเอลซา มีโอกาสสูงที่จะไม่ตกชั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูกันต่อไปยาวๆ

โรดริโก โมเรโน - โรบิน ค็อก 2 การเสริมทัพที่เป็นความหวังใหม่ของ ลีดส์ ยูไนเต็ด
โรดริโก โมเรโน – โรบิน ค็อก 2 การเสริมทัพที่เป็นความหวังใหม่ของ ลีดส์ ยูไนเต็ด

เวสต์บรอมวิช

สลาเวน บิลิช ผู้จัดการทีมชาวโครเอเชีย ที่พา “เดอะ แบ็กกีส์” กลับสู่ลีกสูงสุดภายในฤดูกาลเดียว หลังคว้ารองแชมป์ศึกแชมเปียนชิพต่อจาก ลีดส์ เบิกงบจากคลังของสโมสรในตอนนี้ยังไม่ถึง 23 ล้านปอนด์ (943 ล้านบาท) ได้ผู้เล่นใหม่มา 5 คน

แต่ในจำนวนนั้น 3 คนเป็นนักเตะหน้าเก่าที่ บิลิช ประทับใจผลงานในช่วงที่ยืมตัวมาใช้งานซีซั่นที่แล้ว นำโดย มาเธอุส เปเรรา ที่ตัดสินใจซื้อขาดจาก สปอร์ติง ลิสบอน ด้วยค่าตัว 8.4 ล้านปอนด์ (344 ล้านบาท) หลังจากตัวรุกชาวบราซิลจัดไปถึง 8 ประตู 20 แอสซิสต์ ในศึกแชมเปียนชิพ และ เกรดี เดียนกานา ปีกชาวอังกฤษ เชื้อสายดีอาร์ คองโก ที่ทำไป 8 ประตู 7 แอสซิสต์ จนต้องทุ่มเงิน 12.4 ล้านปอนด์ (508 ล้านบาท) ให้กับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด

อีกคนเป็น คัลลัม โรบินสัน กองหน้าที่ยอมซื้อขาดจาก เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด แต่นัดแรก เวสต์บรอมวิช ก็โดน เลสเตอร์ ซิตี้ ที่แสดงให้เห็นถึงการจบสกอร์และความเก๋าเกมที่เหนือกว่า ถล่มไป 3-0 อย่างไรก็ตาม เวลานี้เพิ่งเปิดฉากนัดแรก โอกาสที่จะอยู่รอดก็ยังเปิดกว้างอยู่

มาเธอุส เปเรรา (ซ้าย) ยิง-จ่ายกระจายในแชมเปียนชิพ จน เวสต์บรอมวิช ต้องซื้อขาด
มาเธอุส เปเรรา (ซ้าย) ยิง-จ่ายกระจายในแชมเปียนชิพ จน เวสต์บรอมวิช ต้องซื้อขาด

ฟูแลม

สกอตต์ พาร์คเกอร์ กุนซือหนุ่มวัย 39 ปี ที่มีประสบการณ์คุมทีมเต็มตัวเพียง 1 ปีครึ่ง แต่พา “เจ้าสัวน้อย” ตีตั๋วเพลย์ออฟเลื่อนชั้นกลับมาได้ในฤดูกาลเดียว มีบทเรียนจากการตกชั้นเมื่อ 2 ซีซั่นที่แล้ว ซึ่งเขารับช่วงต่อจาก เคลาดิโอ รานิเอรี ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ด้วยการจับจ่ายไปไม่ถึง 26 ล้านปอนด์ (1,066 ล้านบาท) 

แต่ในบรรดา 7 สมาชิกใหม่ของ ฟูแลม ถือว่ามีหลายรายที่ชื่อชั้นไม่ธรรมดา โดยเฉพาะ อัลฟงส์ อเรโอลา ผู้รักษาประตูทีมชาติฝรั่งเศส ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ที่ยืมตัวมาจาก ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และยังเคยเฝ้าเสาให้ เรอัล มาดริด มาแล้ว

รวมถึง เคนนี เตเต แบ็กขวาดีกรีทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ที่เติบโตมาจาก อาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม ซึ่ง “เจ้าสัวน้อย” ไปคว้ามาจาก โอลิมปิก ลียง ด้วยค่าตัวแค่ 3 ล้านปอนด์ (123 ล้านบาท) และยังมี 2 ผู้เล่นมากประสบการณ์ในเวทีพรีเมียร์ลีกอย่าง อองโตนี น็อคการ์ต ปีกชาวฝรั่งเศสที่เคยเล่นกับ เลสเตอร์ ซิตี้ และ ไบรจ์ตัน ก่อนย้ายมาด้วยค่าตัว 10.78 ล้านปอนด์ (441.98 ล้านบาท) พร้อมด้วย มาริโอ เลมินา มิดฟิลด์ทีมชาติกาบองที่ยืมตัวมาจาก เซาแธมป์ตัน และเคยค้าแข้งกับ ยูเวนตุส มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลงานนัดประเดิมซีซั่นของ ฟูแลม กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด เมื่อเจอ อาร์เซนอล ที่กำลังเข้าที่เข้าทาง และน่าจะมีลุ้นกลับมาเบียดแย่งท็อปโฟร์ สอนเชิงไป 3-0 พาร์คเกอร์ จึงมีการบ้านให้ทำอีกมากมายว่าจะจูนทีมอย่างไรให้นักเตะเก่าและนักเตะใหม่เข้าขารู้ใจกันโดยเร็วที่สุด

อัลฟงส์ อเรโอลา - เคนนี เตเต 2 ผู้เล่นใหม่โปรไฟล์หรูของ ฟูแลม
อัลฟงส์ อเรโอลา – เคนนี เตเต 2 ผู้เล่นใหม่โปรไฟล์หรูของ ฟูแลม

แม้น้องใหม่ทั้ง 3 ทีมจะเริ่มต้นด้วยการไร้แต้มติดมือ แต่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2020/21 ยังเหลือโปรแกรมให้ต่อสู้กันอีก 37 นัด ซึ่งเมื่อถึงเวลารูดม่านปิดฉากในวันที่ 23 พฤษภาคม ปีหน้า คงได้รู้กันว่าทีมใดที่จะรอดหรือจะร่วง.

เรื่อง : ชัช บางแค

กราฟิก : Theerapong Chaiyatep, Supassara Taiyansuwan

Credit : https://www.thairath.co.th/