ไขคำตอบ ทำไม “บุนเดสลีกา” กับ “ลา ลีกา” จึงเหมาะกับ “แข้งไทย” ในเวทียุโรป

ปัจจุบัน เราเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น ที่นักเตะไทยจะได้ไปค้าแข้งใน “บุนเดสลีกา” ทีมข่าวไทยรัฐสปอร์ต จะพาไปเจาะลึกว่า เพราะอะไร “บุนเดสลีกา” จึงเป็นลีกที่เหมาะสมในการค้าแข้งยุโรปของแข้งไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ชนาธิป สรงกระสินธ์ มีโอกาสย้ายไปเล่นกับ “เอลเช” ในลา ลีกา สเปน ก็ถือว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า “ลา ลีกา” ก็เป็นอีกหนึ่งลีกที่นักเตะไทย มีโอกาสจะได้ไปค้าแข้ง 

-ลา ลีกา / บุนเดสลีกา ลีกที่เหมาะกับแข้งเอเชีย 
-เงื่อนไขการเล่นใน “บุนเดสลีกา” / “ลา ลีกา”
-ข้อจำกัดการเล่นใน “บุนเดสลีกา” / “ลา ลีกา”

ลา ลีกา / บุนเดสลีกา ลีกที่เหมาะกับแข้งเอเชีย 

ในอดีต เราจะเห็นว่านักเตะจากทวีปเอเชีย ได้รับโอกาสในการไปค้าแข้งใน “ลา ลีกา” และ “บุนเดสลีกา” หลายต่อหลายคน อีกทั้งบางคนก็ใช้เวที “บุนเดสลีกา” ในการต่อยอดไปเล่นในลีกที่ทุกคนใฝ่ฝันอย่าง “พรีเมียร์ลีก” ด้วยความแข็งแกร่งของลีกที่ไม่มากจนเกินไป แต่ก็สามารถทดสอบผู้เล่นแต่ละคนว่า สามารถเจิดจรัสบนเวทีโลกได้หรือไม่

ที่ผ่านมา ดาวยิงอย่าง “ซอน เฮืองมิน” ที่ค้าแข้งกับทอตแนม ฮอตสเปอร์ เคยค้าแข้งกับ “ฮัมบูร์ก” และ “ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน” ในบุนเดสลีกามาห้าฤดูกาล นั่นทำให้เพียงพอที่ทำให้เขาได้รับโอกาสในการลงเล่นพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และได้ WORK PERMIT ในการเป็นนักฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ซึ่งหากเขาไม่ได้มาค้าแข้งในบุนเดสลีกา กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ยากมากๆ 

หรือในกรณีของ “ชินจิ คากาวะ” ก่อนที่เขาจะมาเฉิดฉายกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ต้องใช้เวทีบุนเดสลีกาในการต่อยอดเช่นกัน 

นอกจากนี้ ยังมีนักเตะนอกยุโรปอีกหลายคน ที่ใช้เวที “ลา ลีกา” และ “บุนเดสลีกา” ในการต่อยอดไปสู่พรีเมียร์ลีก 

เงื่อนไขการเล่นใน “บุนเดสลีกา”

การเล่นลีกบุนเดสลีกา มีเงื่อนไขการลงทะเบียนผู้เล่นที่ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยกฎการลงทะเบียนนักเตะ อธิบายโดยง่ายดังนี้ 

-สามารถลงทะเบียนนักเตะได้ถึง 99 คน 
-สามารถลงทะเบียนนักเตะต่างชาติได้ไม่จำกัด และไม่มีการลงทะเบียนนักเตะในโควตาสหภาพยุโรป (EU)
-สามารถส่งผู้เล่นลงสนามได้อย่างอิสระ ไม่มีโควตาต่างชาติ
-นักเตะที่จะเข้ามาเล่นในบุนเดสลีกา ไม่มีกระบวนการพิจารณา WORK PERMIT ในปัจจัยที่เกี่ยวกับฟุตบอล การทำ WORK PERMIT เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าทำงานของชาวต่างชาติในเยอรมนี
-กรณีที่นักเตะอยู่ในประเทศเยอรมนี เป็นเวลา 3 ปี สามารถทำเรื่องขอถือพาสปอร์ตสหภาพยุโรปได้

จากเงื่อนไขที่กล่าวไป จะเห็นได้ว่า “บุนเดสลีกา” เยอรมนี เป็นลีกที่เหมาะสมที่จะค้าแข้ง เพราะเงื่อนไขที่ไม่ยากจนเกินไป ด้วยเหตุผลดังนี้ 

1. ไม่มีการจำกัดโควตานอก EU

ดังนั้น แต่ละสโมสรจะสามารถลงทะเบียนนักเตะนอก EU (รวมถึงไทย) กี่คนก็ได้ และเป็นช่องทางที่ให้นักเตะไทยมีพื้นที่มากขึ้น ดังนั้น นักเตะไทยที่ฝีเท้าดีจึงสามารถเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับสโมสร โดยที่ไม่ต้องกังวลถึงโควตาต่างชาติที่จำกัด เหมือนลีกอื่นๆ

2. ลงทะเบียนผู้เล่นได้ถึง 99 คน 

“บุนเดสลีกา” เปิดโอกาสให้แต่ละทีมสามารถลงทะเบียนผู้เล่นได้ถึง 99 คนต่อฤดูกาล ดังนั้น พื้นที่จึงเปิดกว้างมากๆ สำหรับนักเตะไทย ที่จะได้มีรายชื่อในทีมของบุนเดสลีกา

3. ไม่จำกัดโควตาการลงสนาม

“บุนเดสลีกา” ไม่มีการกำหนดโควตานักเตะต่างชาติ, นักเตะ EU หรือ นักเตะเยาวชนในการลงสนาม  

4. การขอ WORK PERMIT ไม่ยาก

“บุนเดสลีกา” ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขนักเตะที่จะเข้ามาเล่นในลีก ด้วยอันดับโลกและความสม่ำเสมอในการลงเล่นเหมือนในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ไม่มีการจำกัดด้วยเปอร์เซ็นต์ของค่าตัวนักเตะที่ต้องสูงกว่า 60 หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ เหมือนบางลีกในยุโรป ดังนั้น นักเตะที่จะมาค้าแข้งจึงไม่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขแวดล้อม ขอเพียงมีฝีเท้าดีเพียงพอที่สโมสรในบุนเดสลีกา จะสนใจเท่านั้น  

5. เมื่อเล่นในบุนเดสลีกาครบ 3 ปี มีสิทธิ์ขอพาสปอร์ต EU เพื่อต่อยอดไปสู่ลีกอื่นๆ

การได้พาสปอร์ต EU เท่ากับว่า นักฟุตบอลคนนั้นได้ถือสัญชาติของสหภาพยุโรป และจะทำให้อนาคตการไปค้าแข้งในลีกอื่นๆ ที่มีการจำกัดโควตา EU จะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น

ข้อจำกัดการเล่นในบุนเดสลีกา

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดข้อหนึ่งที่สำคัญในการไปค้าแข้งใน “บุนเดสลีกา” ก็คือ นักเตะที่ไปค้าแข้ง จำเป็นต้องอยู่ในทีมชุดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถที่จะลงไปเล่นกับทีมเยาวชนหรือทีมสำรองได้ เพราะตามกฎการลงทะเบียนของบุนเดสลีกา ระบุชัดเจนว่า นักเตะจะสามารถลงทะเบียนกับทีม SENIOR หรือชุดใหญ่ได้เท่านั้น ดังนั้น หากไม่มีแมตช์ลงเล่นกับทีมใหญ่ จะไม่สามารถครอสไปเล่นกับทีมสำรอง หรือทีมเยาวชนของสโมสรนั้นๆ เหมือนกับในลีกใหญ่ของยุโรปอื่นๆ

ดังนั้น ผู้เล่นที่ไปค้าแข้งในบุนเดสลีกา จำเป็นต้องยึดตำแหน่งตัวจริงในทีมให้ได้ มิฉะนั้น ผู้เล่นคนนั้นมีสิทธิ์ที่จะต้องนั่งยาว และไม่มีแมตช์การแข่งขันตลอดทั้งฤดูกาล  

เงื่อนไขการเล่นใน “ลา ลีกา”

การเล่นใน “ลา ลีกา” มีข้อจำกัดที่มากกว่า “บุนเดสลีกา” แต่ข้อจำกัดดังกล่าว ยังถือว่ามีความเป็นไปได้สำหรับนักเตะนอก EU อย่างเอเชีย ที่จะมีสิทธิ์ได้พื้นที่ในการไปเล่นกับทีมใน ลา ลีกา 

-แต่ละทีมลงทะเบียนผู้เล่นได้ 25 คน
-สามารถลงทะเบียนผู้เล่นนอก EU ได้ 5 คน
-มีการทำข้อตกลง “โคโตนู” (Cotonou) สำหรับประเทศในแถบแอฟริกา, แคริบเบียน และโซนแปซิฟิก เพื่อให้ประเทศเหล่านี้ ลงทะเบียนผู้เล่นในฐานะนักเตะ EU ได้ 
-ผู้เล่นนอก EU ที่ลงเล่นในสเปน 5 ปี มีสิทธิ์ได้สถานะพลเมืองสเปน
-ไม่มีการจำกัดโควตาผู้เล่นต่างชาติในการลงสนาม

เงื่อนไขของ “ลา ลีกา” จะเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้เล่นไทยจะสอดแทรกเข้าไป และถือเป็นลีกที่ไปค้าแข้งได้สะดวก

1. โควตาผู้เล่นนอก EU ที่ลงทะเบียนได้เยอะ

การลงทะเบียนผู้เล่นนอก EU ได้ถึง 5 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอ ที่จะทำให้ทีมหันมาสนใจผู้เล่นไทยที่มีความสามารถ อีกทั้งโควตา EU ยังรวมถึงประเทศที่มีการทำข้อตกลง “โคโตนู” กับลา ลีกา จึงทำให้พื้นที่สำหรับนักเตะในแถบเอเชียรวมถึงไทย มีมากขึ้น

2. ไม่จำกัดโควตาการลงสนาม

เช่นเดียวกับบุนเดสลีกา การที่ไม่จำกัดโควตาลงสนาม ทำให้นักเตะไทยที่ไปค้าแข้ง ไม่ต้องเบียดแย่งตำแหน่งกับผู้เล่นต่างชาติคนอื่นๆ  

3. การขอ WORK PREMIT ไม่ยาก

เช่นเดียวกับบุนเดสลีกา ที่เงื่อนไขการขอ WORK PERMIT ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นจึงทำให้นักเตะที่จะไปค้าแข้ง เป็นนักเตะจากชาติไหนก็ได้ 

4. มีโอกาสได้สถานะพลเมืองสเปน

สถานะพลเมืองสเปน จะทำให้เพิ่มโอกาสต่อยอดไปสู่พรีเมียร์ลีก ที่มีเงื่อนไขมากมาย เพราะหากเป็นผู้เล่นจากชาติที่มีอันดับโลกต่ำกว่า 50 โอกาสที่จะได้ไปเล่นในพรีเมียร์ลีกเป็นไปได้ยากมาก

ข้อจำกัดการเล่นใน “ลา ลีกา”

หากเทียบกับบุนเดสลีกา ข้อจำกัดของนักเตะที่ไปค้าแข้งจะน้อยกว่า เพราะในลา ลีกา ผู้เล่นที่ไม่ได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ ยังมีโอกาสลงเล่นกับทีมในลีกสำรอง แต่สิ่งที่ยากคือ การลงทะเบียนผู้เล่นที่จำกัดเพียงทีมละ 25 คน ไม่อิสระเหมือนกับบุนเดสลีกา ทำให้นักเตะไทยที่จะไปเล่นใน “ลา ลีกา” โดยมากจะเป็นทีมระดับกลางถึงปลายเท่านั้น

ถ้าไม่ใช่ ลา ลีกา / บุนเดสลีกา ? 

คำถามต่อมาคือ แล้วถ้าไม่ใช่ “บุนเดสลีกา” แล้วลีกไหน จะเหมาะกับนักเตะไทยบ้าง 

“ลีก เอิง” ฝรั่งเศส

เงื่อนไขในลีก เอิง ฝรั่งเศส มีความคล้ายกับ “ลา ลีกา” แต่ยากกว่าเล็กน้อย นั่นก็คือ “ลีก เอิง” จำกัดผู้เล่นนอก EU แค่ 4 คน แต่ว่าทีมสามารถลงทะเบียนผู้เล่นในลีกได้ถึง 99 คน อีกทั้งยังมีการทำข้อตกลง “โคโตนู” เหมือน “ลา ลีกา” นั่นทำให้การค้าแข้งในลีกเอิง มีความเป็นไปได้สำหรับนักเตะไทย 

“เอเรดิวิซี่ ลีก” เนเธอร์แลนด์

หากไม่ใช่ BIG5 ยุโรป ลีกเนเธอร์แลนด์ ถือว่ามีความเป็นไปได้สำหรับผู้เล่นไทย เพราะในเชิงการลงทะเบียน ไม่มีการจำกัดโควตานักเตะต่างชาติใดๆ และไม่จำกัดผู้เล่นต่างชาติในการลงเล่น 

ลีกเบลเยียม / ออสเตรีย / สวิตเซอร์แลนด์ / โปรตุเกส 

ลีกเหล่านี้ประกาศชัดเจนว่า พร้อมจะเป็นทางผ่านให้ผู้เล่นไต่เต้าไปสู่ลีกระดับสูง ดังนั้น เงื่อนไขในลีกทั้งหมดนี้ จึงแทบไม่มีการจำกัดผู้เล่นโควตาต่างชาติใดๆ ทั้งสิ้น และมีสิทธิ์ได้เป็นพลเมือง EU หากได้ลงเล่นในระยะเวลาแต่ละประเทศกำหนด 

กัลโช่ ซีเรีย อา

กัลโช่ ซีเรีย อา เป็นลีกที่นักเตะนอก EU ไปค้าแข้งได้ยากมากๆ เพราะลีกอนุญาตให้แต่ละทีมเซ็นผู้เล่นนอก EU ได้เพียงแค่ 2 คน ต่อฤดูกาลเท่านั้น ไม่มีโควตาพิเศษใดๆ ดังนั้น ผู้เล่นไทยที่จะได้เล่นในอิตาลี ต้องโดดเด่นเหนือแข้งนอก EU คนอื่นๆ จริงๆ (เช่น นักเตะจากอเมริกาใต้, แอฟริกา)

นักเตะไทยสร้างความสำเร็จได้ในลาลีกา /บุนเดสลีกาจริงหรือ

ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวไป ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ที่ผู้เล่นไทยจะสร้างความสำเร็จในลา ลีกา หรือ บุนเดสลีกา เพราะข้อจำกัดการลงทะเบียนค่อนข้างน้อย และมีพื้นที่จะเบียดแย่งลงสนาม จึงทำให้โอกาสที่จะได้เห็นแข้งไทยในสองเวทีชั้นนำของยุโรป ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความฝัน

จากนี้ ขึ้นอยู่กับผู้เล่นที่ได้รับโอกาส ว่าจะปรับตัวกับลีกได้ดีแค่ไหน และดีเพียงพอ ที่จะเบียดแย่งเป็น 11 ตัวจริงกับต้นสังกัดใหม่ ได้หรือไม่ 

เรื่อง : ข้าวบาร์เลย์

กราฟฟิก : Fee, MARK+

Credit : https://www.thairath.co.th/