กฎเปลี่ยนตัว 5 คนจำเป็นแค่ไหน? กับฟุตบอลในยุคโควิด-19
หลังการเข้ามาของไวรัส “โควิด-19” ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในทุกย่อมหญ้า หลายวงการต่างได้รับความเสียหายกันทั่วหน้า ที่โชคดีหน่อยอาจใช้เวลาฟื้นตัวได้ไม่นาน แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเลยทีเดียว เช่นเดียวกันกับในวงการฟุตบอล ที่ต้องไม่ว่าจะเป็นระดับไหน ก็ต่างพยายามปรับตัวเพื่อการอยู่รอดปลอดภัย ทำให้ฟีฟ่าในฐานะลูกพี่ใหญ่องค์กรลูกหนังโลก ต้องทำตัวเป็นเหมือนเข็มทิศ ชี้ทางสว่างและช่วยหาทางออก เพื่อให้ฟุตบอลทั่วโลกดำเนินการต่อไปได้อย่างปกติสุขที่สุด และหนึ่งในทางออกของฟุตบอลยุคนี้ คือกฎเฉพาะกิจที่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัวได้ 5 คนในหนึ่งเกม เพื่อช่วยประคับประคองสภาพร่างกายของนักเตะ ไม่ให้บอบช้ำจนเกิน แต่กระนั้นก็ดี ยังมีลีกในบางประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ และฟุตบอลไทยลีก ที่เลือกยืนหยัดใช้กฎเปลี่ยนตัว 3 คนเท่าเดิม จนเกิดกระแสถกเถียงของแฟนบอลว่า การตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลดีหรือร้ายกันแน่
ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐสปอร์ต ได้พูดคุยกับผู้สันทัดกรณี 2 คน ที่คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลไทยและเทศมาโดยตลอด ซึ่งจะมาวิเคราะห์แบบเจาะลึกว่า การเปลี่ยนตัว 5 คน ส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไร กฎเปลี่ยนตัว 5 คน ไม่ได้เอื้อประโยชน์กับทุกทีม เริ่มต้นกันที่ “ฟลุ๊ค” ธีรยุทธ บัญหนองสา ผู้ประกาศข่าวและนักพากย์ชื่อดัง ซึ่งมีโอกาสได้บรรยายเกมฟุตบอล ทั้งไทยและเทศมาอย่างต่อเนื่อง ได้ฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้กฎเปลี่ยนตัว 5 คน ก็เหมือนกับดาบสองคม ที่มีทั้งคุณและโทษกับหลายๆ ทีม “จริงๆ ถ้าย้อนกลับไป ในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลพรีเมียร์ลีก ก็มีการพูดคุยกันว่าจะไม่ใช้กฎเปลี่ยนตัว 5 คน แต่จะกลับไปเปลี่ยนตัว 3 คนเหมือนเดิม ซึ่งในตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมีผลกระทบอะไรมากนัก” “แต่ตอนนี้ มันมีกระแสออกมาทุกๆ สัปดาห์แล้วว่า ควรจะกลับไปใช้กฎเปลี่ยนตัว 5 คน แต่เอาจริงๆ ผมก็ยังนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเป็นยังไง เพราะประเด็นแรกคือ ถ้าจะเปลี่ยนในช่วงกลางซีซั่น ทุกทีมจะรับได้หรือเปล่า? ประเด็นที่สอง ในแง่ของแท็กติกก็จะเปลี่ยนไปหมดเลย โฉมหน้าของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้” “ว่ากันตามตรง บรรดาทีมใหญ่อาจจะสบายหน่อย เพราะจะหยิบจับใครมาใช้งานก็ได้ แต่ทีมเล็กๆ อย่าง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด หรือ เบิร์นลีย์ บอกได้เลยว่าตายหยังเขียดแน่ (หัวเราะ) เพราะแค่นี้ก็ไม่มีตัวจะเล่นอยู่แล้ว ดังนั้นบรรดาทีมเล็กเขาอาจจะไม่ยอม เพราะถ้าขืนเปลี่ยนกฎในตอนนี้ ก็ตายสถานเดียว”
นอกจากนี้ ผู้บรรยายกีฬาชื่อดังยังเผยอีกว่า กฎการเปลี่ยนตัว 5 คน ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับอรรถรสของเกมมากนัก เพราะแฟนบอลต่างเข้าใจ และรับรู้ได้ถึงสถานการณ์ของโลกปัจจุบันอยู่แล้ว “เรื่องความสนุกของเกม ผมมองว่าอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะในเมื่อแฟนบอลทุกคนรับรู้ได้ว่า ในช่วง 1-2 ปีหลังจากนี้ ก็อาจจะเป็นอย่างที่เห็นนี่แหละ การที่เกมถูกชะลอ ถูกเบรกบ่อยครั้ง แฟนบอลก็คงชินกันแล้ว จากภาพที่ได้เห็นมาเมื่อซีซั่นก่อน ดังนั้นเรื่องนี้มันอาจจะไม่กระทบหรอก แต่ที่กระทบคือการได้เปรียบ ระหว่างทีมใหญ่กับทีมเล็กมากกว่า” และเมื่อถูกถามถึงเรื่องใกล้ตัว ในแวดวงลูกหนังไทย “ฟลุ๊ค” ธีรยุทธ มองว่า ศึกฟุตบอลไทยลีก คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะการบริการจัดการของ บ.ไทยลีก ได้เอื้อประโยชน์ให้กับทุกทีมอย่างเต็มที่อยู่แล้ว “ในส่วนของฟุตบอลไทย อาจไม่มีผลกระทบในแบบฟุตบอลลีกอังกฤษ เพราะโปรแกรมของเราลดลงไปเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมฟุตบอลลีกที่ไม่ถี่มาก ฟุตบอลลีกคัพก็หายไปในฤดูกาลนี้ โปรแกรมทีมชาติก็ถูกเลื่อนออกไปต้นปีหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้เตะอย่างที่โปรแกรมวางเอาไว้หรือเปล่า” “นอกจากนี้ เรื่องของตลาดซื้อขายนักเตะ หลายทีมก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะในเลก 2 ยังสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้อีก 10 คน เป็นโควตาต่างชาติถึง 5 ถ้าใครเจ็บเรื้อรัง ก็สามารถโละได้เลย ดังนั้นเมื่อหลายอย่างเอื้อขนาดนี้ ปัญหาเรื่องกฎเปลี่ยนตัวคงไม่ถูกพูดถึงแน่”
“ไทยลีก” ยังมีปัญหาที่น่าห่วงกว่าเรื่องกฎเปลี่ยนตัว ด้าน “โค้ชเตี้ย” สะสม พบประเสริฐ” กุนซือมาดกวนจากค่ายฉลามชล ได้แสดงทรรศนะที่คล้ายกันว่า กฎนี้น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับทีมใหญ่มากกว่า และไม่เห็นด้วยอย่างแรงที่จะมีการนำกฎนี้ มาใช้ในไทยลีก “กฎนี้มันเอื้อในเรื่องของสภาพร่างกายนักเตะ เมื่อเจอโปรแกรมการแข่งขันที่ค่อนข้างถี่ ร่างกายนักเตะจะไม่ช้ำมาก แต่จริงๆ แล้วถ้าใช้กฎนี้เมื่อไหร่ ทีมใหญ่จะได้เปรียบทันที เพราะทีมเหล่านี้มีขนาดใหญ่ คุณภาพนักเตะก็ไม่ห่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเปลี่ยนใครลงมา ศักยภาพของทีมก็ไม่ได้ด้อยลงมากนัก” “แต่ในเรื่องนี้ผมเองก็ไม่เห็นด้วยนัก เพราะว่าตราบใดที่มีการเปลี่ยนตัวได้ 5 คน ประเด็นแรกเลยคือ โค้ชก็จะมีโอกาสวางแผนได้มากขึ้น ส่วนประเด็นที่สอง อรรถของเกมก็จะหายไปเพราะมีการเปลี่ยนตัวกันบ่อยขึ้น บางทีอาจจะเลยไปถึงการเปลี่ยนตัวเพื่อถ่วงเวลาด้วย” “ผมมองว่าในไทยลีก เราเลยจุดนั้นนานมาแล้ว เพราะลีกเริ่มต้นมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นเรื่องสภาพร่างกายของนักเตะ อาจไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ความอืดอาดของวงการฟุตบอลมากกว่า” “ในขณะเดียวกัน ถ้ามองในแง่ดีก็คือ ทีมที่มีผู้เล่นดาวรุ่ง ก็อาจจะมีโอกาสใช้งานได้บ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็คงไม่เยอะมาก เพราะทุกทีมมีผลการแข่งขันเป็นตัวตั้ง ถ้าจะใช้เวทีไทยลีกเป็นที่แจ้งเกิดให้ดาวรุ่ง ก็มีโอกาสน้อย ทำให้รู้สึกว่าความคุ้มค่าของการเปลี่ยนตัว 5 คน อาจจะไม่ใช่ผลดีมากกว่าผลเสีย”
ประเด็นสุดท้าย เฮดโค้ชชลบุรี เอฟซี ระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่ไทยลีกควรคำนึงถึง คือเรื่องของเม็ดเงินที่จะใช้ให้อยู่รอดจนจบซีซั่น เพราะเมื่อโปรแกรมถูกขยายออกไปจนถึงกลางปีหน้า ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับงบประมาณของแต่ทีม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ผมคิดว่าในตอนนี้ สมาคมฯ ควรหารายได้มาค้ำจุนสโมสร แทนที่เงินค่าลิขสิทธิ์ที่หายไป นี่คือประเด็นที่สำคัญในตอนนี้ เพราะถ้าสมาคมฯ ยังนิ่งเฉย สโมสรเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงต่อไป” “ถึงแม้จะมีการเบรกโปรแกรมในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่กลับไปขยายเวลาการแข่งขันในฤดูกาลนี้ออกไป ตรงนี้ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ กฎถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของใครบางคนหรือเปล่า” “แล้วพอมีการเปลี่ยนเวลาในการเปิด-ปิดลีก ที่ไปคร่อมกับลีกชาติอื่นในเอเชีย ก็ทำให้อะไรหลายอย่างมันพังหมดเลย ตรงนี้ควรมีการมานั่งพูดคุยว่า มันคุ้มหรือเสียมากกว่ากัน และควรรีบจัดการโดยทันที เพราะยิ่งถ่างโปรแกรมให้ยืดออกไปนานเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีก แล้วอาจจะส่งผลกระทบให้หลายอย่างมันพังไปด้วย” โค้ชเตี้ย กล่าวปิดท้าย