#saveเสื้อบอล รวมชุดสุดเก๋ เท่ ไม่ซ้ำใคร

จากดราม่าในโลกโซเชียลที่หญิงสาวรายหนึ่งเปิดประเด็นว่า “เสื้อบอล” ไม่ใช่แฟชั่น และไม่สมควรใส่ไปข้างนอก เสื้อที่ใส่แล้วมันหล่อคือ “เสื้อเชิ้ต” จนเกิดแฮชแท็ก #saveเสื้อบอล จากกลุ่มคนรักเสื้อบอล
ข้อความเปิดประเด็น
ข้อความเปิดประเด็น “ดราม่าเสื้อบอล”

เมื่อข้อความดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง บรรดาผู้ที่ชื่นชอบการสวมใส่หรือสะสม “เสื้อบอล” เป็นชีวิตจิตใจก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่พวกเขาหลงใหลไม่ได้มีคุณค่าด้อยไปกว่า “เสื้อเชิ้ต” อย่างที่หญิงสาวคนนั้นเข้าใจ เพราะเสื้อบอลที่เป็นลิขสิทธิ์แท้ส่วนใหญ่อาจมีราคาสูงกว่าเสื้อเชิ้ตด้วยซ้ำ

ส่วนประเด็นที่ว่า เสื้อบอลไม่ใช่แฟชั่นนั้นก็อาจเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล เนื่องจากความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และที่หญิงสาวเปิดประเด็นขึ้นมานั้นอาจเป็นเพราะเธอไม่ได้อินกับแฟชั่นเสื้อผ้ากีฬา หรือไม่ได้สนใจฟุตบอลเป็นทุนเดิม จึงมองข้ามคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายในเสื้อบอลไป

ด้วยความที่ “เสื้อบอล” เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ในการแสดงตัวตน ตลอดจนใช้ในการบ่งบอกว่าผู้สวมใส่ชื่นชอบสิ่งไหน เชียร์สิ่งไหน หรือต้องการสื่อสารกับใครที่เราต้องการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น 5 หนุ่มสุดหล่อจาก One Direction วงบอยแบนด์ชาวอังกฤษที่สาวๆ ในไทยไม่น้อยน่าจะคลั่งไคล้และติดตามผลงานเพลงของพวกเขาอยู่ ครั้งหนึ่งก็เคยสวมใส่ “เสื้อบอลทีมชาติไทย” ภายใต้แบรนด์ของ แกรนด์สปอร์ต ถ่ายโปสเตอร์โปรโมตก่อนมาทัวร์ประเทศไทยในงานคอนเสิร์ต On The Road Again 2015 Tour ที่ราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพมหานคร

One Direction ศิลปินบอยแบนด์สุดฮอตจากอังกฤษ ก็เคยใส่เสื้อบอลทีมชาติไทย โปรโมตการทัวร์คอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2015
One Direction ศิลปินบอยแบนด์สุดฮอตจากอังกฤษ ก็เคยใส่เสื้อบอลทีมชาติไทย โปรโมตการทัวร์คอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ปี 2015

เนื่องจาก ฟุตบอล เป็นกีฬาที่แข่งขันกันโดยการแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ดังนั้น เสื้อบอล จึงมีความจำเป็นในการแยกทั้ง 2 ทีมออกจากกันด้วยสีเสื้อและการออกแบบที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนอยู่ทีมไหน เล่นฝั่งไหน ก่อนที่เสื้อบอลจะมีวิวัฒนาการเรื่อยมาตามยุคสมัย ด้วยการเพิ่มลวดลายและลูกเล่นบนตัวเสื้อ หรือแม้กระทั่งกลับไปดีไซน์ให้ใกล้เคียงกับชุดที่เคยสวยงามเมื่อครั้งอดีต หรือที่เรียกว่า “ชุดย้อนยุค” ก็สุดแท้แต่การรังสรรค์ของผู้ออกแบบ

เราจึงคัดตัวอย่างมาให้ดูกันว่า “เสื้อบอล” ตัวไหนบ้างที่มีความสวยงาม สุดเท่ เก๋ไก๋ โดดเด่นไม่ซ้ำใคร และสามารถใส่ไปข้างนอกได้สำหรับคนหลายๆ กลุ่ม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาติดแฮชแท็กว่า #บอกไว้ให้คิส

เสื้อผู้รักษาประตู สหภาพโซเวียต ทศวรรษ 1960 (ภาพจาก www.amazon.com)
เสื้อผู้รักษาประตู สหภาพโซเวียต ทศวรรษ 1960 (ภาพจาก www.amazon.com)
1. เสื้อผู้รักษาประตู สหภาพโซเวียต (ทศวรรษ 1960)

เสื้อตัวนี้ออกแบบเรียบง่าย แต่กลับดูดีมีสไตล์อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยชุดสีดำตัดกับตัวอักษรสีขาวบนหน้าอก CCCP (ตัวย่อของชื่อประเทศอดีตสหภาพโซเวียตในภาษารัสเซีย หรือตรงกับตัวย่อในภาษาอังกฤษว่า USSR) บ่งบอกถึงความเป็นตัวแทนของทีมชาติสหภาพโซเวียตยุครุ่งเรืองในช่วงทศวรรษ 1960

ขณะที่คอเสื้อก็ใช้เชือกร้อยแทนกระดุมแล้วปล่อยให้ปลายเชือกลงมาอยู่ในระดับหน้าอก เพิ่มความขรึมด้วยการออกแบบเป็นเสื้อคอปก บวกกับแขนเสื้อที่ยาวสำหรับเป็นเครื่องแบบของผู้รักษาประตู เมื่อดูภาพรวมแล้วเสื้อตัวนี้แทบจะใส่แทนเสื้อสเวตเตอร์แบบลำลอง สำหรับออกไปเดินเที่ยวข้างนอกได้สบายๆ

ยิ่งคนที่สวมใส่ คือ “เลฟ ยาชิน” สุดยอดนายทวารในยุคนั้น ผู้ปฏิวัติการเล่นในตำแหน่งนี้จนได้รับฉายาว่า “แมงมุมดำ” หรือ “หมึกยักษ์ดำ” จากการป้องกันประตูอันเหนียวหนึบ และยังเป็นผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวในโลกนี้ที่สามารถคว้ารางวัลบัลลงดอร์ หรือ ลูกฟุตบอลทองคำ ในฐานะผู้ได้รับการยอมรับของวงการลูกหนังว่าเป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปี เมื่อปี 1963 และยังถูกนำชื่อไปตั้งเป็นรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมแห่งปีของ ฟีฟ่า ในชื่อ “ยาชิน อวอร์ด” อีกด้วย ยิ่งทำให้เสื้อตัวนี้มีความขลังและน่าสวมใส่ขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว

กรีนแบงค์ ยู-10 ปี 2006 (ภาพจาก Neal Heard)
กรีนแบงค์ ยู-10 ปี 2006 (ภาพจาก Neal Heard)
2. กรีนแบงค์ ยู-10 (ปี 2006)

เอาใจคนรักเสื้อบอลแขนยาวอย่างต่อเนื่อง กับยูนิฟอร์มของ “กรีนแบงค์ รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี ทีมบี” ทีมฟุตบอลเยาวชนจากเมืองลินคอล์น ประเทศอังกฤษ ที่ได้ “มอเตอร์เฮด” วงร็อกเมทัลชื่อดังของเมืองผู้ดีที่โลดแล่นในวงการเพลงมาตั้งแต่ปี 1975 มาเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกเสื้อ 

แน่นอนว่า โลโก้รูปหัวกะโหลกที่ปรากฏบนเสื้อก็คือ ตราสัญลักษณ์ของวงมอเตอร์เฮด นั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละนัดที่ทีมกรีนแบงค์ ยู-10 ทีมบี ลงแข่งขัน จะมีการเปิดเพลง ‘Ace of Spades’ หนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดของวง เป็นเพลงเปิดตัวขณะเดินลงสู่สนาม เพื่อปลุกใจนักเตะในทีมและข่มขวัญผู้เล่นทีมคู่แข่งไปพร้อมกัน

ภาพรวมของเสื้อตัวนี้ดูแล้วค่อนข้างลงตัวในเสื้อโทนสีดำตัดด้วยเส้นสีขาวบริเวณหัวไหล่ เสริมความดุดันด้วยโลโก้หัวกะโหลกที่เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ น่าจะถูกใจผู้ที่ชื่นชอบเกมลูกหนังและมีดนตรีร็อกแนวเฮฟวีเมทัลอยู่ในจิตวิญญาณ

Ace of Spades เพลงดังของวง Motorhead ผู้สนับสนุนหลัก ทีมกรีนแบงค์ ยู-10

แอตเลติโก มาดริด ชุดเยือน ฤดูกาล 2003-2004 (ภาพจาก www.whoateallthepies.tv)
แอตเลติโก มาดริด ชุดเยือน ฤดูกาล 2003-2004 (ภาพจาก www.whoateallthepies.tv)
3. แอตเลติโก มาดริด ชุดเยือน (ฤดูกาล 2003-2004)

ทุกคนที่เลื่อนหน้าจอลงมาอ่านถึงตรงนี้แล้วอาจสงสัยว่า ทำไมทีมดังแห่ง ลา ลีกา สเปน อย่าง แอตเลติโก มาดริด ถึงมีแมงมุมจากหนังเรื่อง “สไปเดอร์แมน” มาชักใยจนเต็มพื้นที่บนหน้าอกเสื้อได้ เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในฤดูกาล 2003-2004 ซึ่งสโมสรได้ผู้สนับสนุนหลักเป็น “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส” ค่ายหนังชื่อดังระดับโลกนั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส จึงใช้พื้นที่บนหน้าอกเสื้อของทีม “ตราหมี” ในการโปรโมตภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่ตัวเองเป็นผู้สร้างตลอดทั้งซีซั่นนั้นรวมแล้วมากกว่า 20 เรื่อง แน่นอนว่า สปอนเซอร์คาดอกก็จะเปลี่ยนไปตามชื่อหนังที่ทางค่ายนำมาโปรโมตในช่วงนั้น เช่น Hellboy, Resident Evil 2: Apocalypse, Peter Pan

แต่ชุดที่สะดุดตามากที่สุด คือ ชุดเยือนที่ใช้โปรโมตหนังเรื่อง Spider Man 2 ที่ไม่เพียงแต่จะนำแมงมุมมาเป็นโลโก้คาดหน้าอกเสื้อคู่กับชื่อหนังเท่านั้น แต่ยังเติมรายละเอียดให้ดูมีสีสันมากยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มใยแมงมุมเข้าไป ตัดกับชุดแข่งสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งแม้ว่าการดีไซน์แบบนี้อาจจะดูเหมือนว่าเล่นใหญ่เกินไปหน่อย แต่เชื่อว่าเสื้อตัวนี้น่าจะเป็นที่ต้องการสำหรับแฟนบอล, นักสะสม รวมถึงคอหนัง ที่อยากมีไว้ในครอบครอง

แอฟริกา ยูนิตี้ (ภาพจาก futboljunkie.blogspot.com)
แอฟริกา ยูนิตี้ (ภาพจาก futboljunkie.blogspot.com)
4. แอฟริกา ยูนิตี้ (ปี 2010)

นี่คือเสื้อบอลชุดแรกในโลกที่ผลิตขึ้นมาสำหรับเป็นเสื้อของทวีป โดยเสื้อตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์เพื่อระดมเงินบริจาคให้กับแคมเปญ ‘Play for Life’ ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในดินแดนกาฬทวีป ผ่านยอดขายของเสื้อชุดพิเศษนี้

“แอฟริกา ยูนิตี้” เปิดตัวในปี 2010 เพื่อต้อนรับทัวร์นาเมนต์ใหญ่ของทวีป ทั้งแอฟริกา คัพ ออฟ เนชันส์ และ ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ประเทศแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ โดย พูม่า นำนักเตะตัวชูโรงของทั้ง 12 ชาติในทวีปแอฟริกาที่บริษัทเป็นผู้สนับสนุนชุดแข่งให้มาร่วมถ่ายแบบโปรโมตเสื้อชุดพิเศษนี้ นำโดย ซามูแอล เอโต (แคเมอรูน), สตีเฟน อัปเปียห์ (กานา), เอ็มมานูแอล เอบูเอ (ไอวอรีโคสต์)

เหล่านักเตะชั้นนำแห่งกาฬทวีป ในชุดแอฟริกา ยูนิตี้ (ภาพจาก www.whoateallthepies.tv)
เหล่านักเตะชั้นนำแห่งกาฬทวีป ในชุดแอฟริกา ยูนิตี้ (ภาพจาก www.whoateallthepies.tv)

จริงอยู่ว่าโทนสีฟ้าอ่อนไล่เฉดสีน้ำตาลลงมาทางด้านล่างของเสื้อตามรูปแผนที่ทวีปแอฟริกา อาจจะไม่เข้าตาแฟนบอลชาวไทยอย่างเราๆ มากนัก แต่เมื่อไปอยู่บนตัวของ เอโต, อัปเปียห์, เอบูเอ รวมถึงนักเตะจากกาฬทวีปแล้ว กลับให้ความรู้สึกว่าเป็นชุดที่ดูดีขึ้นมาทันตาเห็น ซึ่งต้องชื่นชมนักออกแบบที่คิดถึงเรื่ององค์รวมของชุดนี้ เพื่อให้เป็นชุดของชาวแอฟริกันอย่างแท้จริง

อิตาลี ปี 2020 (ภาพจาก Instagram @azzurri)
อิตาลี ปี 2020 (ภาพจาก Instagram @azzurri)
5. อิตาลี (ปี 2020)

ปิดท้ายด้วย ชุดใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้ (31 สิงหาคม 2563) ของทีมชาติอิตาลี ซึ่งออกแบบมาได้อย่างสวยงาม เรียบหรู ดูคลาสสิก เน้นโทนน้ำเงินอันเป็นสีหลักของทัพ “อัซซูร์รี” ผสมผสานด้วยลวดลายศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากยุคอิตาเลียน เรเนซองส์ หรือสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี ช่วงศตวรรษที่ 15-16 ซึ่งเป็นจุดแรกของการเริ่มสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอันเป็นช่วงเวลาของความเจริญทางวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองที่สุดในยุโรป

เมื่อรวมกับตราธงชาติบนอกเสื้อข้างซ้าย และโลโก้ พูม่า สีทองข้างขวาที่เป็นงานปักอันประณีต เพิ่มความเคร่งขรึมด้วยปกเสื้อและขอบแขนเสื้อสีน้ำเงินเข้ม ทำให้เสื้อบอลตัวนี้ดูสง่างาม และยิ่งถูกสวมใส่โดยนักเตะทีมชาติอิตาลีที่ขึ้นชื่อว่ามีความหล่อเท่แบบคมเข้มแทบทุกยุคทุกสมัย ก็ยิ่งส่งเสริมให้ชุดนี้เป็นเสื้อบอลที่ใส่ออกไปเดินข้างนอกได้โดยไม่ต้องเคอะเขิน

อิตาลี ปี 2020 (ภาพจาก Instagram @azzurri)
อิตาลี ปี 2020 (ภาพจาก Instagram @azzurri)

เรื่อง : ชัช บางแค

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

Credit : https://www.thairath.co.th/