จุดโทษกระโดดยิง : ไขความลับเทคนิคสังหารสุดพิสดาร และการรับมือ

“จุดโทษกระโดดยิง” วิธีสังหารที่เป็นภาพจำของ บรูโน เฟอร์นันเดส บุรุษผู้กอบกู้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เทคนิคนี้ได้ผลแค่ไหน อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ได้สกอร์ และผู้รักษาประตูจะรับมืออย่างไร ไปติดตามกัน

ฤดูกาล 2019-2020 ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้จุดโทษในทุกรายการมากที่สุดในบรรดาสโมสรจาก 5 ลีกใหญ่ของยุโรป (พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, กัลโช เซเรีย อา อิตาลี, ลา ลีกา สเปน, บุนเดสลีกา เยอรมัน, ลีกเอิง ฝรั่งเศส)

โดย “ปิศาจแดง” ได้จุดโทษรวมทั้งสิ้น 22 ครั้ง (พรีเมียร์ลีก 14, ยูโรปาลีก 5, เอฟเอ คัพ 2, ลีกคัพ 1) เปลี่ยนเป็นสกอร์ได้ถึง 18 ประตู เป็นรองแค่ บาร์เซโลนา ที่เคยได้ 24 จุดโทษในฤดูกาล 2015-2016 แต่ “เจ้าบุญทุ่ม” ได้มาแค่ 14 ประตู

ในจำนวน 18 ประตูจากการสังหารระยะ 12 หลาของ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นผลงานของ “บรูโน เฟอร์นันเดส” 8 ประตู จากการสังหารไม่พลาดเลยทั้ง 8 ครั้ง (จากทั้งหมด 12 ประตูที่ บรูโน ยิงให้ “ปิศาจแดง” ในทุกรูปแบบ) แม้ว่ามิดฟิลด์ทีมชาติโปรตุเกสจะเพิ่งย้ายมาเมื่อเดือนมกราคม แต่ประสิทธิภาพในการเป็นมือปืนสังหารนั้นเรียกว่าเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ หากได้จุดโทษเมื่อไรก็เตรียมใส่สกอร์ได้เลย

63 เปอร์เซ็นต์ของจุดโทษ บรูโน เป็นท่า “กระโดดยิง”

และเมื่อไล่ดูจุดโทษทั้ง 8 ประตูของดาวเตะวัย 25 ปี พบว่ามีถึง 5 ครั้งที่เขา “กระโดด” ก่อนสังหาร เริ่มจากเกมพรีเมียร์ลีกที่ชนะ วัตฟอร์ด 3-0 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นประตูแรกของเขาในถิ่นโอลด์ แทรฟเฟิร์ด ด้วย ถือเป็นการเปิดตัวที่ทำให้แฟนบอลจดจำเขาได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นก็มี เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เป็นเหยื่ออีกรายของท่านี้ในพรีเมียร์ลีก รวมถึง เชลซี ในเอฟเอ คัพ และ คลับ บรูช กับ เซบีญา ในยูโรปาลีก

บรูโน สังหารจุดโทษด้วยท่า
บรูโน สังหารจุดโทษด้วยท่า “กระโดดยิง” จนเป็นเครื่องหมายการค้า

ตลอดอาชีพค้าแข้ง จอมทัพเลือดโปรตุกีสสังหารจุดโทษไปแล้ว 30 ครั้ง ซึ่งเขาเบิกสกอร์แรกจากจุดโทษได้ตั้งแต่ปี 2012 ในสมัยที่ยังเล่นในลีกเยาวชนให้กับ โนวารา ทีมระดับเซเรีย บี ของอิตาลี ณ ตอนนั้น (ปัจจุบันอยู่ เซเรีย ซี) ก่อนถูกดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ และได้ย้ายไป อูดิเนเซ, ซามพ์โดเรีย จากนั้นก็กลับบ้านเกิดมาซบตัก สปอร์ติง ลิสบอน ก่อนลงเอยที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งก็มีสถิติการสังหารจุดโทษดังนี้

อย่างไรก็ตาม บรูโน ไม่ได้สังหารจุดโทษด้วยท่า “กระโดดยิง” เสมอไป ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์หลังจบเกมกับ วัตฟอร์ด จากการถูกยิงคำถามว่าได้ลอกเลียนแบบเทคนิคนี้มาจาก “จอร์จินโญ” กองกลางของ เชลซี หรือไม่ เขาก็ตอบกลับไปว่า “นี่เป็นวิธีการยิงจุดโทษของผมอยู่แล้ว หากผมรู้สึกมั่นใจ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้ยิงแบบนี้ทุกครั้งหรอก แต่ผมคิดว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับวันนี้”

แม้ จอร์จินโญ จะไม่ได้สังหารด้วยเทคนิค “กระโดดยิง” ทุกครั้งเช่นกัน แต่ประตูจากจุดโทษส่วนใหญ่ของเขาเกิดขึ้นโดยใช้ท่านี้เป็นหลัก และสถิติของมิดฟิลด์ทีมชาติอิตาลีเชื้อสายบราซิลก็จัดว่าเป็นเพชฌฆาตมือทองที่ไว้ใจได้เป็นอันดับต้นๆ ของวงการลูกหนังในยุคปัจจุบัน

เมื่อสถิติของทั้ง บรูโน และ จอร์จินโญ ออกมาเป็นแบบนี้เแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคนิคการสังหารจุดโทษด้วยท่า “กระโดดยิง” มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่ใส่สกอร์ให้ทีมตัวเองได้ไม่น้อย แล้วอะไรคือกุญแจสำคัญที่ทำให้เทคนิคนี้สามารถเอาชนะผู้รักษาประตูคู่แข่งได้เกือบทุกครั้ง

หลอกผู้รักษาประตูคู่แข่ง-เพิ่มเวลาเลือกมุมยิงในเสี้ยววินาที

“แม็ทธิว เลอ ทิสซิเอร์” อดีตจอมทัพระดับตำนานของ เซาแธมป์ตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสังหารจุดโทษสมัยค้าแข้งด้วยสถิติ 48 ประตูจากจุดโทษ 49 ครั้ง พลาดไปเพียงครั้งเดียว ได้วิเคราะห์ถึงการใช้ท่า “จุดโทษกระโดดยิง” ของ บรูโน และ จอร์จินโญ ผ่านทาง ดิ แอธเลติก สื่อกีฬาชั้นนำของอังกฤษว่า มีเทคนิคคล้ายกับที่เขาเคยใช้ยามรับหน้าที่มือปืนให้กับทีม “นักบุญ”

เจ้าของฉายา “พ่อมดลูกหนัง” อธิบายว่า เคล็ดลับในการสังหารจุดโทษของเขา คือ การสังเกตอาการของผู้รักษาประตูก่อนยิง และพยายามไม่แสดงออกให้เห็นว่าเขาเลือกยิงมุมไหนจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย แม้ว่าตอนที่ยืนรอสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสินอาจมีมุมที่เล็งไว้อยู่ในใจแล้วก็ตาม แต่เมื่อก้าวเท้าเข้าไปแล้วเห็นว่าผู้รักษาประตูเริ่มจะขยับตัวไปทางไหน เขาก็จะเปลี่ยนใจยิงไปในทิศทางตรงกันข้ามภายในเสี้ยววินาที

เลอ ทิสซิเอร์ อธิบายว่า ลักษณะการเคลื่อนไหวของท่า “จุดโทษกระโดดยิง” จะช่วยหลอกผู้รักษาประตูทั้งหลายที่เดาทางรอไว้แล้วให้เสียจังหวะได้ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้มีเวลาตัดสินใจเลือกมุมยิงเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย ในระหว่างที่ตัวยังลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งหากผู้รักษาประตูเริ่มขยับตัวในจังหวะกระโดดก่อนที่จะยิงไปแล้ว ชั่วพริบตาที่เท้าหลักกำลังจะแตะพื้นก็สามารถเลือกยิงไปอีกมุมโดยไม่ต้องเน้นความแรงหรือกดเต็มข้อก็สามารถใส่สกอร์แบบนิ่มๆ ได้

อย่างไรก็ตาม “เลอ ก็อด” บอกว่าเทคนิคนี้ไม่เหมาะสำหรับจอมสังหารที่ต้องการซัดเข้าไปแบบตรงๆ เพราะวิธีนี้ถือเป็นเรื่องยากที่จะยิงแบบเน้นความรุนแรงได้ และตัวเขาเองก็ไม่เคยเลือกมุมยิงจุดโทษกลางประตูเหมือนกัน จึงไม่แนะนำให้ใช้ท่านี้หากเลือกยิงเข้าตรงกลาง

สมมติฐานของอดีตมิดฟิลด์จอมคลาสสิก พิสูจน์ได้จากจุดโทษของ จอร์จินโญ ที่ยิงเข้ามุมขวามือของตัวเองถึง 52 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 48 เปอร์เซ็นต์ก็เข้ามุมซ้ายมือ โดยไม่มีการยิงเข้ากลางประตูเลย เช่นเดียวกับ บรูโน ที่สำเร็จโทษเข้าไปทั้งมุมซ้ายและมุมขวาเท่ากัน 50 เปอร์เซ็นต์ 

จอร์จินโญ และ บรูโน ไม่เคยยิงจุดโทษให้เข้ากลางประตูแม้แต่ครั้งเดียว
จอร์จินโญ และ บรูโน ไม่เคยยิงจุดโทษให้เข้ากลางประตูแม้แต่ครั้งเดียว

ท่า “จุดโทษกระโดดยิง” ทำให้ จอร์จินโญ ได้รับความไว้วางใจจาก “อันเดรีย มันดอร์ลินี” กุนซือเวโรนาให้เป็นมือปืนเบอร์ 1 ของทีมในฤดูกาล 2013-2014 แม้จะมี ลูกา โทนี ดาวยิงทีมชาติอิตาลี ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก ปี 2006 อยู่ด้วยก็ตาม แต่ มันดอร์ลินี ให้เหตุผลว่า จอร์จินโญ มีทั้งความเยือกเย็นและมั่นใจในการรับหน้าที่ อีกทั้งเทคนิคดังกล่าวยังทำให้ จอร์จินโญ สามารถมองเห็นได้ก่อนว่าผู้รักษาประตูจะขยับไปมุมไหน ก่อนยิงเข้าไปอีกมุมได้อย่างง่ายดาย

เมื่อย้ายไป นาโปลี หลังจากนั้น จอร์จินโญ ก็ถูกเลือกให้เป็นเพชฌฆาตประจำทีมอีกครั้ง เหนือมือสังหารทั้ง กอนซาโล อิกวาอิน, ดรีส์ เมอร์เทนส์, ลอเรนโซ อินซินเญ และ มาเร็ค ฮัมซิค ด้วยผลงาน 4 ประตูจากจุดโทษ 5 ครั้ง ซึ่งก็เป็นหนเดียวในชีวิตที่ จอร์จินโญ โดนเซฟจุดโทษ แต่ครั้งนั้นเขายังตามซ้ำเป็นประตูได้ในเกมเซเรีย อา ที่ นาโปลี บุกไปชนะ อูดิเนเซ 1-0 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 2017 ก่อนจะไม่พลาดอีกใน 11 ครั้งหลังสุด

จากนั้นช่วงที่ย้ายมา เชลซี ในปี 2018 จอร์จินโญ ก็ยึดสัมปทานในการซัดจุดโทษมาจาก รอสส์ บาร์คลีย์ ได้อีก ซึ่ง “มาเตจ์ เดลัช” อดีตผู้รักษาประตูสำรองของ เชลซี ก็เล่าถึงการซ้อมเซฟจุดโทษว่า ห้องเครื่องชาวอิตาลีเป็นคนที่ประมวลผลการตัดสินใจได้ในเวลาอันสั้น โดยจะรอให้ผู้รักษาประตูขยับตัวก่อนด้วยเทคนิคนี้ แม้ท่าทางอาจจะดูแปลกๆ แต่เขาก็ยิงแทบไม่พลาดเลย ซึ่งใช่ว่าคนอื่นจะทำตามได้ง่ายๆ หากใจไม่นิ่งมากพอที่จะเลือกมุมยิงในเสี้ยววินาทีสุดท้าย

โค้ชเทคนิคที่ซามพ์โดเรีย ผู้จุดประกาย “บรูโน”

กลับมาที่ บรูโน อีกครั้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ในช่วงที่อังกฤษยังล็อกดาวน์เนื่องจากโรคโควิด-19 ระบาด เขาได้เป็นแขกรับเชิญในรายการ The ’20’ Talk สัมภาษณ์พิเศษผ่านไลฟ์ทางอินสตาแกรมของ “มาริโอ ยูรอฟสกี” อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติมาซิโดเนีย ที่กลายเป็นตำนานของไทยลีกหลังเลิกเล่นกับทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด โดยติดต่อผ่านทาง เนมันยา มาติช ที่เป็นเพื่อนกัน และเป็นเพื่อนร่วมทีม “ปิศาจแดง” ของจอมทัพโปรตุกีส

บรูโน เผยเบื้องหลังท่า
บรูโน เผยเบื้องหลังท่า “จุดโทษกระโดดยิง” ผ่านรายการของ มาริโอ ยูรอฟสกี

ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ มาริโอ ถามถึงแรงบันดาลใจของท่า “จุดโทษกระโดดยิง” ซึ่ง บรูโน เปิดเผยว่า ในปี 2015-2016 หลังได้รับหน้าที่สังหารจุดโทษให้กับทีมชาติโปรตุเกส ชุดยู-21 และ อูดิเนเซ จากนั้นช่วงซัมเมอร์ถัดมาก็ได้ย้ายไป ซามพ์โดเรีย ซึ่งในระหว่างการซ้อมยิงจุดโทษ โค้ชเทคนิคของ “ลา ซามพ์” ที่ บรูโน เรียกชื่อในไลฟ์ว่า “ลิโล” ก็ได้แนะนำเขาว่า

“ทำไมคุณไม่ลองเปลี่ยนวิธีการยิงจุดโทษดูบ้างล่ะ ? ผู้รักษาประตูจะรับมือคุณยากขึ้นนะ”

“ลิโล” รู้ว่ากองกลางเลือดฝอยทองเคยยิงจุดโทษพลาดมาแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เพียงครั้งที่ 4 ในชีวิต (ตามบันทึกข้อมูลโดยเว็บไซต์ transfermarkt) ในเกมเซเรีย อา ที่ อูดิเนเซ ชนะ นาโปลี 3-1 แม้ก่อนหน้านั้นจะยิงจุดโทษได้ 1 ลูกไปแล้ว แต่การสังหารครั้งที่ 2 ในนัดเดียวกัน เขายิงติดเซฟ กาเบรียล นายด่านมือ 2 ที่ได้ลงเล่นให้นาโปลีในลีกซีซั่นนั้นแค่เกมนั้นเกมเดียว แต่เดาทางจุดโทษของ บรูโน ถูกทั้ง 2 ครั้ง

บรูโน พลาดจุดโทษครั้งแรกในชีวิต สมัยอยู่กับ อูดิเนเซ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 2016
บรูโน พลาดจุดโทษครั้งแรกในชีวิต สมัยอยู่กับ อูดิเนเซ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 2016

หลังจบประโยคนั้น บรูโน ก็เริ่มฝึกเทคนิค “จุดโทษกระโดดยิง” อย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบันทันที แต่น่าเสียดายที่เขาไม่ได้รับโอกาสให้ลองวิชาเลยที่ ซามพ์โดเรีย เนื่องจากตอนนั้น ฟาบิโอ กวายาเรลลา คือมือสังหารเบอร์ 1 ของทีม และในฤดูกาลต่อมาที่เขาย้ายจากอิตาลีกลับบ้านเกิด ก็ยังต้องรอการทำหน้าที่สังหารจุดโทษให้ สปอร์ติง ลิสบอน ต่อจาก บาส โดสต์ อีก

แต่เมื่อ บาส โดสต์ บาดเจ็บ โอกาสก็มาถึงมือ บรูโน เสียที ซึ่งเขาก็ใช้เทคนิคนี้เรื่อยมา สลับกับการสังหารแบบปกติ ซึ่งเพลย์เมกเกอร์วัย 25 ปี ก็ยังบอกกับ มาริโอ อีกว่า “บางครั้งผมก็ต้องเปลี่ยนวิธียิงไปเรื่อยๆ ผมไม่เคยยิงแบบเดิมซ้ำๆ หรอก เพราะถ้ายิงเข้าแบบเดิมติดต่อกัน 3-4 ครั้ง ผู้รักษาประตูคงจับทางได้ และเดี๋ยวนี้ก็สามารถดูเทปย้อนหลังเพื่อทำการบ้านก่อนลงสนามได้ด้วย ดังนั้น ถ้าผมไม่เปลี่ยนวิธียิง คู่แข่งก็จะเดาทางถูกกันหมด”

“หนามยอกเอาหนามบ่ง” เคล็ดลับป้องกัน “จุดโทษกระโดดยิง”

แน่นอนว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” เสมอ แม้ บรูโน จะค้นพบกลเม็ดเด็ดพรายในการยิงจุดโทษได้แล้ว แต่ก็ยังไม่วายโดนปฏิเสธครั้งที่ 2 ตลอดอาชีพค้าแข้ง กับการสังหารครั้งที่ 11 ในชีวิต ซึ่งผู้ที่เอาชนะ “จุดโทษกระโดดยิง” กลับเป็นเพียงนายทวารจาก ลอเรส ทีมในลีกล่างของโปรตุเกส ในฟุตบอลถ้วย โปรตุกีสคัพ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2018 แต่โชคดีที่ สปอร์ติง ยังเฉือนชนะ ลอเรส ได้ 2-1 จึงไม่เป็นตราบาปติดตัวสำหรับเขา

มิเกล โซอาเรส หนึ่งเดียวที่เอาชนะ
มิเกล โซอาเรส หนึ่งเดียวที่เอาชนะ “จุดโทษกระโดดยิง” ของ บรูโน ได้

“มิเกล โซอาเรส” คือ ผู้รักษาประตูคนเดียวที่เซฟจุดโทษกระโดดยิงของ บรูโน ได้ และสื่ออังกฤษที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจอมล้วงลับตับแตกก็พลิกแผ่นดินไปตามหาตัวจอมหนึบของ ลอเรส เพื่อมาบอกเคล็ดลับที่ทำให้เขาเซฟจุดโทษในวันนั้นได้ ก่อนที่ มิเกล โซอาเรส จะมาให้สัมภาษณ์กับ เดลี สตาร์ เพื่อไขความลับในการรับมือกับเทคนิคสังหารจุดโทษสุดพิสดารของ บรูโน

“วันนั้นเขายิงมาทางขวามือของผม ซึ่งก่อนยิง ผมขยับไปทางซ้ายมือเล็กน้อย เพราะ บรูโน จะมองผู้รักษาประตูก่อนยิงจุดโทษทุกครั้ง ผมก็เลยใช้วิธีเดียวกันกับเขา แล้วหลอกว่าจะพุ่งไปทางซ้ายแต่รีบขยับตัวกลับมาพุ่งไปทางขวา”

“ผมต้องดึงเวลาให้เขาตัดสินใจได้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เขาคิดหนักจนกว่าจะง้างเท้ายิง แล้วผมก็เซฟได้ในที่สุด ก่อนที่เกมนั้นจะยืดเยื้อถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ น่าเสียดายที่เราแพ้ 1-2 แต่ผมก็ดีใจมากที่เซฟจุดโทษได้ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครเซฟจุดโทษของเขาได้เลย ผมหวังว่าจะยังไม่มีใครทำได้ในเร็วๆ นี้นะ เพราะชื่อของผมจะได้เป็นที่จดจำต่อไป” นายด่านลอเรส ทิ้งท้ายแบบอวยตัวเอง

ซ้อมหนักขึ้น เพื่อ “จุดโทษกระโดดยิง” ที่สมบูรณ์แบบ

นับตั้งแต่นั้น บรูโน ก็ยังไม่พลาดจุดโทษเลยเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ตลอดการทำหน้าที่ 19 ครั้งหลังสุด ไม่ว่าจะในสีเสื้อของ สปอร์ติง หรือ แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งหลังจบเกมยูโรปาลีก รอบ 8 ทีม ที่ “ปิศาจแดง” เฉือนชนะ เอฟซี โคเปนเฮเกน 1-0 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ โดยได้ประตูชัยจากจุดโทษของ บรูโน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ กุนซือชาวนอร์เวย์ก็ชื่นชมว่าเป็นเพชฌฆาตมือฉมังที่เดาใจได้ยากว่าจะยิงแบบไหน

วันนั้น ดาวเตะวัย 25 ปี เลือกที่จะก้าวเข้าไปยิงทันที ผิดกับช่วงหลังๆ ที่จะกระโดดหนึ่งครั้งก่อนยิงเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้ คาร์ล-โยฮัน ยอห์นสัน จอมหนึบโคเปนเฮเกนที่โชว์การเซฟไป 13 ครั้งตลอดทั้งเกมถึงกับเสียเหลี่ยม เพราะเตรียมตัวรออ่านจังหวะที่ บรูโน จะกระโดดก่อนยิง แต่สุดท้ายเจอซ้อนแผนด้วยการซัดตูมเดียวหายแทน

โซลชาร์ ชื่นชม บรูโน ในฐานะจอมสังหารจุดโทษที่เดาใจยาก
โซลชาร์ ชื่นชม บรูโน ในฐานะจอมสังหารจุดโทษที่เดาใจยาก

ซึ่ง โซลชาร์ ก็เผยในเวลาต่อมาว่า “เขาอ่านใจผู้รักษาประตูออกว่าจะต้องรอจังหวะที่เขาจะกระโดดก่อนยิงจุดโทษเหมือนที่ผ่านมา แต่ในระหว่างการซ้อม เขาได้ซ้อมยิงจุดโทษทั้งแบบกระโดดก่อนยิงและไม่กระโดด อีกทั้งยังซ้อมยิงทุกมุมด้วย บางทีเขาอาจจะยิงจุดโทษดีกว่าผมสมัยที่ยังเป็นผู้เล่นก็ได้นะ”

สิ่งที่พิสูจน์ว่า บรูโน ไม่ยอมหยุดนิ่งกับการฝึกท่า “จุดโทษกระโดดยิง” คือ เกมต่อมาในยูโรปาลีก รอบรองชนะเลิศ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้จุดโทษตั้งแต่นาทีที่ 9 และ บรูโน ก็กลับมาใช้ท่าไม้ตายอีกครั้ง แต่หนนี้เขาได้คิดไปอีกสเตปว่า โบโน นายทวารเซบีญาจะพุ่งไปยังมุมต่ำเพื่อรอรับบอลเรียด จึงเปลี่ยนใจมายิงลูกโด่งในชั่วพริบตา ซึ่งผลลัพธ์ก็คือเป็นประตูขึ้นนำ

แม้นัดนั้นจะลงเอยด้วยการแพ้ 1-2 ตกรอบก็ตาม แต่ถ้าดูจากไหวพริบของ บรูโน บวกกับคำบอกเล่าของ โซลชาร์ จึงสรุปได้ว่า เคล็ดลับการยิงจุดโทษอย่างไรให้ได้สกอร์แบบชัวร์ๆ ไม่ได้มีแค่การงัดเทคนิค “จุดโทษกระโดดยิง” ออกมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องผ่านการซ้อมแล้วซ้อมอีกจนมั่นใจว่านายทวารคู่แข่งจะจับทางไม่ถูก

เพราะถึงแม้ว่าจะคิดค้นสูตรเด็ดที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงออกมาได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าหากไม่ฝึกฝนจนชำนาญ ก็คงเป็นได้แค่ “หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม” ในเกมการแข่งขัน

เรื่อง : ชัช บางแค

กราฟิก : Taechita Vijitgrittapong , Sathit Chuephanngam

Credit : https://www.thairath.co.th/