ส่อง 3 ปัจจัยเสี่ยง “โอมิครอน” ระบาดศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษ
แม้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จะประกาศใช้ Plan B เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มาพร้อมกับ “สายพันธุ์โอมิครอน” แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะดูเลวร้ายลงเรื่อยๆ สำหรับ “สหราชอาณาจักร”
โดยการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในสหราชอาณาจักรล่าสุด ณ วันที่ 17 ธ.ค.64 มีผู้ติดเชื้อรายวัน 93,045 คน และเสียชีวิต 111 ศพ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 11,190,354 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 147,048 ศพ
ซึ่งสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ทำให้บรรดาคอบอลที่กำลังรอลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก เริ่มรู้สึกเป็นกังวลขึ้นมาว่า การแพร่ระบาดระลอกนี้ จะทำให้การฟาดแข้งที่กำลังสุดเข้มข้นจะต้อง “เลื่อนแมตช์การแข่งขัน” “พักการแข่งขันชั่วคราว” หรือในทางที่เลวร้ายที่สุด อาจจะต้อง “ยกเลิกการแข่งขันในฤดูกาลนี้” หรือไม่?
แต่เดี๋ยว…อย่าเพิ่งตกอกตกใจกันมากเกินไปนัก ก่อนจะไปถึงตรงนั้น “เรา” ไปรับทราบสถานการณ์ล่าสุดเรื่องผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีต่อวงการฟุตบอลอังกฤษในเวลานี้กันก่อน
สถานการณ์โควิด-19 ณ ปัจจุบัน กับ ฟุตบอลอังกฤษ
สิ้นสุดวันที่ 18 ธ.ค.64 มีจำนวนแมตช์ที่ถูกเลื่อนการแข่งขัน รวมกันทั้งสิ้น 23 นัด จากทั้ง 4 ลีกอาชีพของประเทศอังกฤษ
แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของ พรีเมียร์ลีก หรือ EPL ณ วันที่ 13 ธ.ค.64 ระบุว่าได้ยกระดับประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินโควิด-19 กับทุกสโมสรแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในอาคาร, การรักษาระยะห่างทางสังคม, การเพิ่มความถี่ในการตรวจนักเตะและเจ้าหน้าที่ และจำกัดเวลาการรักษานักเตะบาดเจ็บในสนาม
หลังระหว่างวันที่ 6-12 ธันวาคม นักเตะและเจ้าหน้าที่สโมสรที่เข้ารับการตรวจโควิด-19 ทั้งหมดรวม 3,805 คน พบผู้ติดเชื้อรวมมากถึง 42 คน (เฉพาะพรีเมียร์ลีก) ซึ่งถือเป็นตัวเลขการติดเชื้อรายสัปดาห์ที่สูงที่สุด นับตั้งแต่เริ่มการตรวจโควิด-19 นักเตะ เมื่อเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา
นอกจากนี้ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ EFL เองก็ได้ประกาศยกระดับการใช้มาตรการฉุกเฉินโควิด-19 กับ แชมเปียนชิพ ลีกวัน และ ลีกทู เช่นกัน
*** หมายเหตุ ตามมาตรการ Plan B เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.64 เป็นต้นไป การเข้าร่วมการชุมนุมที่มีผู้คนมารวมตัวกันเกินกว่า 10,000 คน ผู้ที่จะเข้าร่วมจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม หรือผลการทดสอบที่แสดงว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ***
กฎการเลื่อนแมตช์การแข่งขันของพรีเมียร์ลีก
จากระเบียบประจำฤดูกาล 2021-22 ของพรีเมียร์ลีก ระบุว่า การจัดโปรแกรมการแข่งขันใหม่ หรือการเลื่อนแมตช์การแข่งขัน จะทำได้ต่อเมื่อ “เกิดสถานการณ์พิเศษขึ้นเท่านั้น”
โดยคณะกรรมการจะพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นเป็นรายๆ ไป อย่างไรก็ดี ตามแนวทางที่ทางพรีเมียร์เคยพิจารณามานั้น หากสโมสรใดมีจำนวนนักเตะที่ลงทะเบียนไว้ยังสามารถลงสนามได้เกินกว่า 14 คนขึ้นไป ก็จะไม่ถูกพิจารณาให้มีการเลื่อนการแข่งขัน
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจัยอื่นๆ ที่จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาด้วย เช่น ความสามารถของแต่ละสโมสรในการส่งนักเตะลงสนามเพื่อทำการแข่งขัน, สถานการณ์ความรุนแรงและผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19, ความพร้อมของนักเตะสำหรับการลงแข่งขันแต่ละนัดอย่างปลอดภัย เป็นต้น.
จำนวนนักเตะในฟุตบอลลีกอังกฤษที่ได้รับการฉีดวัคซีน
แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของพรีเมียร์ลีก เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า มีนักเตะในพรีเมียร์ลีก 81% ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 เข็ม ในขณะที่อีกประมาณ 68% ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว
แถลงการณ์ของ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ณ วันที่ 16 ธ.ค.64 ระบุว่า จากการรวบรวมข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีจำนวนนักเตะในสังกัด EFL (แชมเปียนชิพ ลีกวัน และ ลีกทู) รวมกันถึง 75% ที่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยในจำนวนนี้แยกเป็นได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว 59% ในขณะที่อีก 16% ได้รับวัคซีนเข็มแรก และ 25% ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ซึ่งสัดส่วนที่ว่านี้ “ต่ำกว่า” ค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนของผู้ชายช่วงวัยเดียวกันในประเทศอังกฤษที่ได้รับวัคซีนครบสูตรเสียอีก โดยสิ้นสุดวันที่ 16 ธ.ค.64 จำนวนผู้ชายในประเทศอังกฤษ ที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ถึง 63% ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ในขณะที่อายุ 25-29 ปี ถึง 67% ที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็ม และอายุ 30-34 มากถึง 75.2% ได้รับวัคซีนสองเข็ม ส่วนอายุ 35-39 ปี มากถึง 79.9% ได้รับวัคซีนครบสูตรแล้ว
นอกจากนี้ สัดส่วนของนักเตะในอังกฤษที่เข้ารับการฉีดวัคซีนนี้ยังถือว่า “ต่ำกว่า” สัดส่วนของนักฟุตบอลในลีกดังของยุโรปอีกด้วย
โดยในศึกกัลโช่ เซเรีย อา นั้น นักเตะถึง 98% ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ส่วนใน ลีกเอิง นักเตะที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มอยู่ที่ 95% ด้านบุนเดสลีกา อยู่ที่ 94% ขณะที่ ลาลีกา นั้นนักเตะที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มอยู่ที่ประมาณมากกว่า 90%
ด้านศึกคนชนคน อเมริกันฟุตบอล NFL นั้น นักกีฬาได้รับการฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วมากถึง 95% อันเป็นผลมาจากการใช้นักกีฬาชื่อดังในลีกมาช่วยกันรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีน นอกจากนี้ หากนักกีฬาคนไหนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก่อนลงแข่งขันจะต้องถูกตรวจโควิด-19 ทุกครั้งอีกด้วย
เหตุใด นักฟุตบอลในลีกอังกฤษมากถึง 25% จึงยังไม่ยอมฉีดวัคซีน?
1. เสรีภาพวัคซีน
อันโตนิโอ คอนเต ผู้จัดการทีมของสโมสร “ไก่เดือยทอง” ทอตแนม ฮอตสเปอร์ ยืนกรานว่าเขาจะไม่บังคับลูกทีมให้ไปฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเด็ดขาด เนื่องจากถือเป็น “การตัดสินใจส่วนตัว” ในขณะที่ โธมัส ทูเคิล กุนซือเชลซี ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “การฉีดวัคซีนยังถือเป็นทางเลือกอิสระ”
2. Fake News วัคซีนในโลกโซเชียลมีเดีย
สตีฟ พาริช (Steve Parish) ประธานสโมสคริสตัล พาเลซ ยอมรับว่า ผู้เล่นในสังกัดบางคนมีความกังวลเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากเกิดความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและผลข้างเคียง อันเป็นผลมาจากการบริโภคข้อมูลผิดๆ และทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ จากขบวนการต่อต้านการฉีดวัคซีน (Anti-vax) ในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลเท็จใน “WhatsApp”
ซึ่งประเด็นนี้ สอดคล้องกับที่ “แกเร็ธ เซาท์เกต” ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ เคยเปิดเผยหลังจบศึกยูโร 2020 เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า Fake News ในโลกโซเชียลมีเดีย มีผลอย่างยิ่งต่อการโน้มน้าวใจให้นักฟุตบอลในอังกฤษไม่ยอมไปเข้ารับการฉีดวัคซีน
3. ความเป็นนักกีฬา
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในอังกฤษ พบว่า นักเตะส่วนใหญ่ในลีกอังกฤษ มักคิดว่าตัวเองมีสภาพร่างกายที่แข็งแกร่งจากความเป็นนักกีฬาที่มีการฟิตซ้อมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกทั้งในนักเตะกลุ่มนี้ ยังมีความคิดอีกด้วยว่า การฉีดวัคซีนอาจมีผลกระทบต่อความแข็งแกร่งทางกายภาพของตัวเองอีกด้วย
เสียงเรียกร้องถึงกลุ่มนักเตะที่ยังไม่ยอมไปฉีดวัคซีน?
“จงเพิกเฉยต่อผู้แสร้งว่าตัวเองเป็นผู้ละเว้นต่อคำโกหกและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และจงรับฟังคนที่รู้จริง หากคุณทำเช่นนั้นได้ คุณจะต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน และวัคซีนเข็มกระตุ้นเอง”
เยอร์เกน คลอปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล
“การฉีดวัคซีน คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคน รวมถึงนักฟุตบอลสามารถทำได้เพื่อปกป้องตัวเอง เพื่อนร่วมทีม และคนที่คุณรัก คือ การเข้ารับการฉีดวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้น”
ไนเจล ฮัดเดิลสตัน รัฐมนตรีกีฬาอังกฤษ